จากกรณี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน
เมื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายมานะ งามเนตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการเสนอหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย โดยสามารถสรุปเนื้อหาดังกล่าวได้ว่า สามารถแบ่งบุคคลเป้าหมายออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (อาศัยมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) และ 2. กลุ่มการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 (อาศัยมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535)
โดยกลุ่มแรก คือกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (อาศัยมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) กลุ่มเป้าหมายคือ 1.1) บุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนถึง พ.ศ. 2542 มีเลขประจำตัวประชาชน 6-????-(50-72)???-??-? และที่สำรวจเพิ่มเติม (สำหรับบุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 18 มกราคม 2548) ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554 มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-? 1.2) บุคคลไร้รากเหง้า (ที่สำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-?) และ 1.3) ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ (ที่สำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-?) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ได้เสนอปรับปรุง คือ
มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติและมีเลขประจำตัว 13 หลัก มีภูมิลำเนา และอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อสำคัญคือ ให้ผู้ยื่นคำขอยืนยัน และรับรองคุณสมบัติของตนเอง เพื่อเร่งรัดคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ได้แก่ มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความประพฤติดี และไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย ไม่เคยรับโทษคดีอาญา ยกเว้นความผิดโดยประมาท หรือลหุโทษ หากได้รับโทษคดีอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำร้อง เว้นแต่โทษในคดียาเสพติดฐาน เป็นผู้ค้า หรือผู้ผลิตให้ขยายระยะเวลาจาก 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทาง และไม่ปรากฏหลักฐานการมีสัญชาติอื่น
การยื่นคำร้อง เหมือนเดิม คือ ใครที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอตามภูมิลำเนาทางทะเบียนราษฎร ส่วนใครที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องต่อ “ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย” สำนักงานตั้งอยู่ที่ “วังไชยา ใกล้ตลาดนางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต” อย่าไปที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพราะไม่ได้รับมอบภารกิจนี้จากคณะรัฐมนตรี
ข้อสังเกตที่พบจากการขอคำปรึกษาจำนวนมาก คือ อำเภอไม่รับคำร้อง หรือรับเอกสารไว้แล้ว แต่ไม่ดำเนินการตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งการเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 และเมื่อคำร้องผ่านกระบวนการของอำเภอแล้ว มักจะไปติดค้างในระดับจังหวัดที่ต้องมีคณะอนุกรรมการพิจารณา ซึ่งในหลายเดือน จึงจะประชุมพิจารณา เมื่อได้รับผลการตรวจสอบจากหน่วยข่าวด้านความมั่นคง แล้วจึงส่งไปกระทรวงมหาดไทย แต่ก็รอกันมานานเป็นปี ๆ และมีบางรายรอนานหลายปี ก็ยังตามเรื่องไม่ได้
นอกจากนี้เรื่องที่คิดว่า ดี คือ การลดกระบวนการ ปรับวิธีการปฏิบัติ และมอบอำนาจในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครอง จาก “นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” เป็น “ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย” เหตุผล คือ คำร้องที่ยื่นไว้เดิม มีกระบวนการที่ต้องรอผลการตรวจสอบพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติจากหน่วยราชการไม่น้อยกว่า 5 หน่วย ที่ไม่สามารถแจ้งผลได้ภายใน 45 วัน ทำให้มีปริมาณคำร้องสะสมในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับกรม และระดับกระทรวง จำนวนมาก และมีการพิจารณากันในแต่ละครั้งมีจำนวนคำร้องเป็นจำนวนร้อย ปีหนึ่งประชุมกันไม่กี่ครั้ง
ที่สำคัญ ผลการพิจารณาที่ถึงผู้มีอำนาจมีจำนวนไม่สมดุลกับคำร้องที่ยื่นให้พิจารณา อีกทั้งมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในประเด็น “พิจารณาล่าช้า” จำนวนมากที่กระทรวงมหาดไทยตกเป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยกระบวนการที่ปรับลด เหลือ 5 วัน จากระยะเวลาที่เคยกำหนดไว้ 270 วัน แต่ความจริงมากกว่านี้ ซึ่งในชั้นแรก ไม่คิดว่าจะทำได้ครบทุกกระบวนการภายในระยะเวลาอันสั้น โดยมีการแซวกันว่า “ที่กำหนดไว้ ทุกกระบวนการ ทำได้แน่ ๆ ก็ 5 วัน ก็คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันเปิดทำงานของราชการ…ไง”
และเป็นเรื่องที่น่ายินดี คือ หลังการพิจารณาอนุญาตให้เป็นบุคคลเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีถิ่นที่อยู่ถาวรแล้ว เดิมต้องไปผ่านกระบวนการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ออก “ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ตม.16)” ซึ่งมีอุปสรรคนานัปการ ไม่ต้องไปผ่าน ตม.อีกแล้ว เปลี่ยนไปให้นายอำเภอออก “ใบสำคัญถิ่นที่อยู่” แทน ตม. ไปเลย ซึ่งกรณีนี้ น่าจะยังต้องปรับเปลี่ยน และกำหนดเนื้อหารายละเอียดกันมากมาย ที่ห่วงใยอีกประเด็น สำหรับเรื่องนี้ คือ เดิมต้องไปยื่นคำขอ “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว” ต่อนายทะเบียนคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 ที่มีผู้กำกับการสถานีตำรวจในแต่ละท้องที่เป็นนายทะเบียน ไม่มีการกล่าวถึงในการปรับระบบส่วนนี้ หากไม่มีการปรับ เพราะไม่ใช่กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ก็ยังต้องไปดำเนินการขอ “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว” ต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวที่สถานีตำรวจกันเหมือนเดิม
ปิดท้ายความห่วงใย กรณีนี้ คือ การไม่กล่าวถึง “อัตราค่าธรรมเนียม” ในการออกใบสำคัญทั้ง 2 แบบ จะยังคงใช้อัตราเดิมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นและการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้แก่คนต่างด้าวที่ได้รับการกำหนดสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 หรือจะมีการกำหนดใหม่.