นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สัมภาษณ์ ”ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า การศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 10.55 กม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จากการพิจารณาผลการศึกษาฯ พบว่าใช้วงเงินลงทุนในการก่อสร้างสูง เพราะเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ขณะที่ผลตอบแทนทางการเงินก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ขณะเดียวกันยังมีเสียงร้องเรียนต่อต้านจากชาวบ้านจำนวนมาก ที่กังวลเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้าง จึงรายงานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. รับทราบว่าจะชะลอโครงการไปก่อน แต่ยังไม่ได้ยกเลิกจะรอปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งทางเลือกอื่นๆ ซึ่งจะหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อไป
โครงการทางด่วน N1 มีระยะทาง 10.55 กม. เป็นอุโมงค์ใต้ดิน 8.06 กม. และทางยกระดับ 2.49 กม. จุดเริ่มต้นบริเวณทางด่วนศรีรัชตัดถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางเป็นใต้ดินไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ และยกระดับเชื่อมตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ วงเงินลงทุนรวม 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,615 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,065 ล้านบาท ตามแผนเดิมจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการปี 68 เริ่มก่อสร้างปี 69 แล้วเสร็จ และเปิดบริการปี 74
จะได้บันทึกเป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของประเทศไทยสุดว้าวลอดถนนงามวงศ์วานตัวอุโมงค์กว้าง 16 เมตร ลึกสุด 44 เมตร เท่าตึกสูงประมาณ 15-16 ชั้น
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กม.วงเงิน 16,960 ล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงคมนาคมสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อนำความคิดเห็นประกอบการขออนุมัติโครงการฯ ก่อนเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการมีความพร้อมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว หากโครงการผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ภายในปี 67 คาดว่าจะเปิดประกวดราคาปี 68 เริ่มก่อสร้างปี 69 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ และพร้อมเปิดบริการประมาณปี 72 ส่วนพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ประมาณ 6 กม. ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น จะแยกกันก่อสร้าง เพราะเป็นคนละโครงสร้าง แต่จะวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การก่อสร้างสอดคล้องกัน และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
สำหรับทางด่วนตอน N2 มีจุดเริ่มต้น กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางด่วนยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชบริเวณทางแยกฉลองรัช สิ้นสุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก (ทล.9) บริเวณทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว ปัจจุบันมีเสาตอม่อ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ประมาณ 281 ต้น ที่สร้างเตรียมไว้มานานกว่า 25 ปี จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าใช้งานได้ทั้งหมด แต่ต้องเสริมกำลังตอม่อบางจุด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า ทางด่วน N1-N2 เป็นโครงข่ายทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกกับตะวันตก สาเหตุที่ กทพ. ต้องปรับรูปแบบจากทางด่วนยกระดับมาเป็นอุโมงค์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ไม่ยอมให้ใช้ที่ดินบริเวณแนวรั้วก่อสร้างโครงการและต่อต้านทางด่วนผ่านที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ยอมให้ก่อสร้างเป็นอุโมงค์หลบ รวมทั้งยอมให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เนื่องจากมองว่าเป็นระบบขนส่งมวลชน ดังนั้นหากไม่มี N1 ช่วงผ่านถนนงามวงศ์วานไปเชื่อมทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) สร้างแค่ N2 จะไม่ตอบโจทย์ในการเชื่อมโยงโครงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ตะวันออกกับตะวันตก เพราะด้วนเหลือแค่ N2