แม้ “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” หากเป็นไปได้เด็กทุกคนก็ควรได้รับสิ่งนี้ตามวัยโดยไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อการเรียนรู้ เติบโตสอดคล้องไปกับวัยจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสพูดคุยถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของศูนย์การเรียนรู้ และตัวอย่างการจัดระบบที่ดี สามารถทำให้เด็กกลุ่มนี้ยังมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสมได้แม้อยู่ต่างแดน โดย น.ส.ศิราพร แก้วสมบัติ ผอ.มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน หนึ่งในผู้คลุกคลีและมีบทบาทช่วยเหลือผู้คนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตลอดผู้อพยพที่อยู่ภาวะยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยหนุ่มสาว ระบุ ต้องยอมรับเรื่องที่ไทยพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายภาคส่วน ตั้งแต่การผลิต อุตสาหกรรมไปจนถึงครัวเรือน

“ที่ผ่านมาตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา มีการข้ามไปมาของเพื่อนบ้านเป็นปกติ และเห็นภาพชัดเจนเมื่อมีนโยบายนำเข้าแรงงาน ทำให้มีประชากรประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามากขึ้น”

สำหรับประเด็น Migrant Learning Center หรืออาจใช้ว่าศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ศูนย์ลักษณะนี้มีมานานแล้ว จากข้อมูลในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีมากว่า 35 ปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดรัฐกะเหรี่ยงที่มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นหลายยุคหลายสมัย และในอดีตกลุ่มที่ข้ามแดนมีการจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนชั่วคราว (Migrant Learning Center) ซึ่งปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ ยังดำเนินการอยู่ และมีการเรียนการสอนเป็นภาษากะเหรี่ยง

“สมัยก่อนศูนย์การเรียนรู้จะสอนเป็นภาษากะเหรี่ยง เพราะผู้ที่ข้ามมาช่วงนั้น มากันเป็นครอบครัวหรือมาจากชุมชนเดียวกัน มีลูก มีหลานติดตามมาด้วย ทำให้เกิดบรรยากาศการเป็นชุมชนที่มองว่า ลูกหลานควรได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเกิดการรวมตัว”

ทั้งนี้ จะเป็นลักษณะคนไหนมีความรู้อะไรก็มาช่วยกัน จากที่พี่สอนน้อง สอนกันในชุมชน เมื่อมีเด็กเพิ่มมากขึ้น มีคนข้ามเข้ามาไทยหลากหลาย ไม่เฉพาะกะเหรี่ยง ทำให้ภาษาที่สอนไม่ได้มีเพียงแค่ภาษากะเหรี่ยง แต่มีภาษาเมียนมาด้วย ขณะนี้ใน 5 อำเภอ ของ จ.ตาก มีศูนย์การเรียนรู้ประมาณ 63 แห่ง มีเด็กประมาณ 18,000 คน เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบชั่วคราว

เดิมใช้หลักสูตรแกนกลางของเมียนมา เพราะเด็กยังไม่รู้ภาษาไทย จึงเข้าโรงเรียนไทยไม่ได้ อีกทั้งในอนาคตเป้าหมายคือการกลับไปเรียนต่อที่เมียนมา ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมให้เด็กกลับไปเรียนต่อประเทศบ้านเกิด

ผอ.มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน กล่าวต่อว่า ในพื้นที่แม่สอดไม่เคยเกิดปัญหาเหมือนศูนย์การเรียนรู้ใน จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีมานาน และมีระบบการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐหลายหน่วย และภาคประชาสังคม ซึ่งเห็นประโยชน์ร่วมกันถึงการต้องมีอยู่

“หากลองนึกว่าโรงเรียนรัฐต้องมารับเด็ก 18,000 คน ต้องมีโรงเรียนที่มีความพร้อม มีครูกี่คน และต้องสนับสนุนงบประมาณเท่าไหร่ ถึงสามารถดูแลเด็กทั้งหมดนี้ได้ หากรัฐมองว่าเด็กทุกคนต้องเรียนในระบบ แต่พื้นที่เรามองว่าต่างได้ประโยชน์ ทำให้เกิดการอนุโลมการเรียนในลักษณะชั่วคราว เพื่อตอบสนองความต้องการด้านหลักสูตรของเด็ก มีชุมชนดำเนินการ รัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

ดังนั้น จึงเป็นที่มาให้ภาคประชาสังคม และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จัดตั้งโครงการ ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว (MECC) ให้มีหน้าที่ประสานการดูแลเรื่องการศึกษาระหว่างองค์กรที่สนับสนุน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากฯ ขณะนั้น ได้ประสานกับศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของ จ.ตาก เป้าหมายดำเนินการเกี่ยวข้องกับการศึกษา การคุ้มครอง สุขภาพ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก

การเกิดศูนย์ประสานงาน ทำให้มีการทำงานร่วมกันเป็นระบบ มีการกำหนดรูปแบบ ข้อตกลงร่วมกัน ไม่ได้เป็นนโยบายจากส่วนกลาง ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ อ.แม่สอด ไม่มีการออก “วุฒิบัตร” ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกธิการ แต่มีการออก “ใบรับรอง” ผลการเรียนกันเองภายในศูนย์การเรียนรู้ด้วยกัน และสามารถโอนย้ายไปยังศูนย์การเรียนรู้อื่น สามารถเทียบกันได้หรือเด็กอาจประสงค์กลับไปเรียนต่อยังที่เมียนมา ก็สามารถนำผลการเรียนไปเทียบโอนได้

“ศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เป็น Safety Net ให้ อย่างน้อยเด็กมีที่อยู่ที่ปลอดภัย ได้อ่านออก เขียนได้ เด็กบางคนออกจากศูนย์การเรียนรู้ไปเรียนโรงเรียนรัฐ ศูนย์เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมเข้าระบบ ทั้งยังทำหน้าที่อุดช่องโหว่สิ่งที่รัฐทำไม่ได้ หรืออาจไม่มีศักยภาพ หรือไม่มีทรัพยากรเพียงพอ” ผอ.มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน