สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการขายตรงที่อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อลากไส้กันไปมา ก็พบว่า “มีขบวนการคนดี” ชนิดดีแต่เปลือกที่อยู่เบื้องหลังการตบทรัพย์ผู้เดือดร้อน ดังนั้น การจะให้พวกที่ตั้งตัวเป็นอะไรเพื่อประชาชนช่วย ก็ต้องเชคประวัติกันดีๆ  หากถ้าเริ่มมีค่าใช้จ่ายแปลกๆ เพิ่มเติมมา ตรงนี้ต้องระวังให้ดี

ในส่วนของการเมือง แม้จะวนเวียนอยู่แค่ นิรโทษกรรม  การแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีการปลุกประเด็นที่น่าเป็นห่วงขึ้นมา คือเรื่อง กระแสชาตินิยม ซึ่งเหมือนกับเป็นการซัดกันคนละดอกระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล พรรคประชาชน ( ปชน.) ก็โดนฝ่ายเชียร์รัฐบาลครหาว่า ปลุกผีตากใบ ทำให้การรักษาความสงบในพื้นที่ยากขึ้น

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งดูๆ ไปก็น่าจะเป็นการเล่นงานจากฝ่ายคนอกหัก พรรคที่มี สส.เคยประกาศกลางสภาว่า “รัฐบาลไม่แฟร์ เหมือนช่วยกันหุงข้าวแล้วพอจะกินก็ไม่แบ่ง” เป็นที่น่าสนใจว่า ในขณะนี้พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ปลุกประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขึ้นมาเล่นงานว่า “รัฐบาลนี้จะทำให้ไทยเสียเกาะกูด” 

ายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานฝ่ายวิชาการ พปชร. แถลงข่าวเรื่องนี้ไปว่า ในการทำ MoU44 เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ไหล่ทวีปไทย กัมพูชา ที่ทำเมื่อปี 2544 สมัยนั้นนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศเป็นผู้ลงนามรับรอง และเป็นสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญญาที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ 

เนื่องจากทางกัมพูชาไปใช้เส้นแบ่งทางทะเลที่ขีดเอง ไม่ใช่เส้นแบ่งตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 การยอมรับการแบ่งเขตของกัมพูชาจะทำให้ไทยเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้เริ่มพูดกันมากขึ้น และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเวลาที่กระแสไม่ชอบกัมพูชาถูกปลุกในอินเทอร์เนต ว่า “เป็นประเทศชอบเคลมวัฒนธรรมไทยเป็นของตัวเอง”

ซึ่งทางผู้รู้บอกว่า  บันทึกความเข้าใจ MOU คือ Memorandum Of  Understanding ซึ่งมีศักดิ์ในการผูกพันระหว่างประเทศน้อยมาก แค่พูดกันคร่าวๆ ว่าการบริหารจัดการจะอยู่ในกรอบไหน แต่ถ้าเป็นการบริหารจัดการที่ผูกพันว่าต้องดำเนินการ จะเป็น บันทึกข้อตกลง MOA หรือ Memorandum Of Agreement ที่กำหนดข้อตกลงให้คู่สัญญาต้องดำเนินการ ที่สำคัญคือ “รัฐไทยยังไม่ได้เจรจา”

ขณะที่ “รองอ้วน”นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ยังงงๆ ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร ไปร้องใคร เพราะว่ารัฐบาลยังไม่ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด อยู่ๆ วันนี้มีแต่คนพูดถึงเกาะกูด และรัฐบาลขอยืนยันว่า เรารักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่ เราจะไม่ยอมให้แผ่นดินของเราไม่ว่าส่วนไหนตกไปของคนอื่น

เพราะตอนนี้ถือว่า“กระบวนการเจรจายังไม่เกิด” ซึ่งไม่รู้ว่า จะดำเนินการช่วงไหน เพียงแค่มีการส่งสัญญาณว่าจะต้องดำเนินการเร็วๆ นี้เพราะเงื่อนไขให้นำพลังงานที่พลังงานฟอสซิล ( น้ำมัน ) ในพื้นที่ไหล่ทวีปมาใช้ในช่วง 5-10 ปีนี้ ก่อนที่พลังงานฟอสซิลจะหมดความสำคัญไปเนื่องจากมีการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน 

การดำเนินการในช่วง 5-10 ปี จากนี้ไปอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น เพราะมีผลประโยชน์มหาศาล เหมือนกับเวลาที่ตักตวงได้ก็ต้องทำ แต่ในรูปแบบใด การบริหารจัดการร่วมหรือไม่ ขอเวลาให้รัฐบาลสรุปให้ชัด อย่าตื่นตัวไปกับการปั่นกระแสคลั่งชาติ ซึ่งมุมหนึ่งก็ดันไปมโนว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะยกแผ่นดินให้กัมพูชาเพราะเป็นมิตรกับสมเด็จฮุนเซน

หากปลุกกระแสถ้าเกิดความเกลียดชังระหว่างประเทศ ผลกระทบมันมีมากมาย การค้าชายแดนไทย – กัมพูชา ที่มีมูลค่ามหาศาล หากต้องปิดด่านเหมือนตอนเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ลองคิดดูว่าเกิดอะไรต่อเศรษฐกิจ และกระแสคลั่งชาติ คลั่งอุดมการณ์ถ้าควบคุมไม่ได้มันมีโอกาสขยายความรุนแรงไปจนผู้เริ่มเอาไม่อยู่

ตอนนี้ก็ขอให้มีความชัดเจนจากรัฐบาลก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับทรัพยากรไหล่ทวีป ฟังให้เข้าใจแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไร??