เพจเฟซบุ๊ก “ไทยคู่ฟ้า” ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่มติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือมติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 29 ต.ค. 2567 เห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และบุตรที่เกิดในไทย ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากหลายร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ขณะที่กลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ที่อยู่อาศัยในไทยมานานและรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่ ซึ่งมีจำนวน 483,626 คน
หลักเกณฑ์การพิจารณา มีดังนี้
– บุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีต จนถึงปี พ.ศ. 2542 (เลขประจำตัวประเภท 6) และที่สำรวจเพิ่มระหว่างปี พ.ศ. 2548-2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 89)
– บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ภายในปี พ.ศ. 2542 เด็กและบุคคลที่กำลังเรียนหรือจบการศึกษาแล้ว คนไร้รากเหง้า และคนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยภายในวันที่ 18 ม.ค. 2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจ (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 00)
– บุตรของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม มีหลักฐานการเกิดในไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ พูดและเข้าใจภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้แพร่หลายในพื้นที่ภูมิลำเนา
คุณสมบัติ
– มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติ และมีเลขประจำตัว 13 หลัก
– มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในไทย ติดต่อกันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี
– ให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเอง คือ จงรักภักดีต่อประเทศไทยและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความประพฤติดี ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางและไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับประเทศต้นทาง และไม่ปรากฏหลักฐานการมีสัญชาติอื่น
สำหรับ การร่นระยะเวลาดำเนินงานในการให้สถานะแก่คนต่างชาติ ประกอบด้วย
1.การขอใบสำคัญถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อย : ลดเวลาดำเนินการ จาก 270 วัน เหลือ 5 วัน
1) ยื่นคำขอพร้อมหลักฐาน ใน กทม. ที่สำนักงานเขต จังหวัดอื่น อำเภอ ตรวจคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน (1 วัน)
2) พิจารณาอนุญาต (3 วัน)
3) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และทำบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (1 วัน)
2.การขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างชาติ : ลดเวลาดำเนินการ จาก 180 วัน เหลือ 5 วัน
1) ยื่นคำขอพร้อมหลักฐาน โดยใน กทม.ยื่นได้ที่สำนักงานเขต ส่วนจังหวัดอื่น ยื่นได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ตรวจคุณสมบัติและเอกสารหลักฐาน (1 วัน)
2) พิจารณาอนุญาต (3 วัน)
3) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และทำบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย (1 วัน)
เงื่อนไข
หากพบภายหลังว่าผู้ยื่นคำขอ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะไม่เป็นไปตามกำหนด ต้องถูกเพิกถอนการอนุญาตทันที