สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงข้อมูลที่ค้นพบเพิ่มเติมหลังจากทีมโบราณคดีขุดค้นหลุมศพของ “แวมไพร์” สาวชั้นสูงในบริเวณสุสานยุคกลางที่หมู่บ้านเปียน ประเทศโปแลนด์ 

ทีมนักโบราณคดีตั้งชื่อให้ศพของหญิงสาวซึ่งถูกฝังตามความเชื่อเกี่ยวกับผีดูดเลือดหรือแวมไพร์ในยุคกลางว่า “โซเซีย” ในรายงานวิจัยล่าสุดนี้ มีการนำเสนอภาพของเธอที่สร้างขึ้นจากข้อมูลโครงกระดูกเพื่อให้เห็นว่าเธอน่าจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน

ภาพที่ได้ออกมาจากการสันนิษฐานบ่งชี้ว่า โซเซียเป็นหญิงผิวขาว ไว้ผมสั้น มีดวงตาสีฟ้าและมีฟันหน้ายื่นออกมา 1 ซี่

โซเซียถูกฝังโดยที่ยังสวมหมวกผ้าไหมที่ศีรษะ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่าเธอเป็นชนชั้นสูงของยุคนั้น แต่กลับได้รับการฝังในรูปแบบตามความเชื่อว่าสามารถป้องกันการคืนชีพของผีดูดเลือด อีกทั้งเธอยังเป็นศพเพียงศพเดียวท่ามกลางโครงกระดูกนับร้อยในสุสานที่มีเคียววางขวางไว้ตรงลำคอ โดยหันคมเข้าหาศพ นอกจากนี้ นิ้วเท้าของเธอยังโดนสวมกุญแจล็อกเอาไว้

ศาสตราจารย์ดาริอุซ โปลินสกี ผู้นำทีมวิจัยศพของโซเซียร่วมกับ แมกดา ซากรอดซกา กล่าวว่า “สามารถสันนิษฐานด้วยเหตุผลบางประการได้ว่า ผู้ที่ฝังศพผู้หญิงคนนี้กลัวว่าเธอจะลุกขึ้นจากหลุมศพ บางทีพวกเขาอาจกลัวว่าเธอเป็นแวมไพร์”

โปลินสกีเชื่อว่า เคียวและแม่กุญแจถูกสวมไว้กับศพเพื่อเป็น “การป้องกันสองชั้น” สำหรับชาวหมู่บ้าน เนื่องจากกลัวว่าแวมไพร์สาวตนนี้อาจลุกขึ้นจากหลุมศพได้ เคียวที่วางขวางลำคอของศพไว้จะตัดศีรษะของเธอทันที หากศพของเธอพยายามจะลุกขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งโปลินสกีและซากรอดซกาได้ร่วมงานกับ ออสการ์ นิลส์สัน ผู้เชี่ยวชาญการจำลองใบหน้าจนได้ภาพของโซเซียเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ออกมา นิลส์สันใช้วิธีสแกนกะโหลกศีรษะของโซเซียด้วยระบบดิจิทัลและพิมพ์รูปศีรษะออกมาด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ จากนั้นก็ใช้ดินเหนียว “เติมกล้ามเนื้อ” บนใบหน้าและใช้ซิลิโคนทำเป็นผิวชั้นนอก 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการสแกนกระดูกที่ตรวจสอบโดยดร.เฮเทอร์ เอ็ดการ์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก พบความผิดปกติที่กระดูกหน้าอกของโซเซีย บ่งชี้ว่าอาจมีความผิดปกติทางร่างกายที่ทำให้เธอเจ็บปวดอย่างมากและสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบในความรู้สึกของคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอถูกมองว่าเป็น “แวมไพร์” ด้วยความหวาดกลัว และโดนสังหารแล้วจึงนำไปฝังในรูปแบบดังกล่าว

ทีมนักวิจัยยังเชื่อว่าโซเซียอาจเป็นชาวสวีเดนและถือเป็น “คนนอกที่ไม่พึงประสงค์” ของชุมชน เนื่องจากในช่วงเวลาที่เธอเสียชีวิตนั้นอยู่ระหว่างการเกิดสงครามสวีเดน-โปแลนด์

สำหรับศพอื่น ๆ ในสุสานแห่งนี้ นักวิจัยพบว่ามี 30 จาก 100 ศพที่พบร่องรอยของการถูกกักขัง ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกแบบเล่น ๆ ของสุสานแห่งนี้ว่า “ทุ่งแวมไพร์” ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีป้ายชื่อหลุมศพและไม่มีบันทึกเกี่ยวกับผู้ตาย ศพจำนวนหนึ่งยังเป็นศพแปลก ๆ เช่น ศพหญิงที่ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสระยะแรก, ศพหญิงมีครรภ์ที่ฝังพร้อมศพชายอีกคนและศพเด็กอยู่ที่ปลายเท้า

ทีมวิจัยรายงานว่า บางศพโดนฝังในลักษณะคว่ำหน้า บางศพมีหินถ่วงไว้และอีกหลายศพมีการใส่เหรียญไว้ในปาก 

โปลินสกีกล่าวว่า วิธีการป้องกันคนตายไม่ให้ฟื้นคืนชีพตามความเชื่อของยุคนั้นมีหลายแบบ เช่น การตัดศีรษะหรือขาของศพ, ฝังศพแบบคว่ำหน้า, เผาศพทิ้งหรือทุบด้วยหินให้แหลก ส่วนการที่โซเซียมีเคียววางพาดคอไว้นั้น แสดงว่าเธอคือศพที่ชาวบ้านที่ลงมือสังหารเธอหวาดกลัวมากที่สุด

ข้อมูลจากสถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐชี้ว่า ชาวยุโรปตะวันออกเริ่มเชื่อเรื่องแวมไพร์และหวาดกลัวปิศาจนี้ในยุคศตวรรษที่ 11 โดยเริ่มจากความเชื่อว่าคนตายบางคนจะฟื้นขึ้นมาจากหลุมเป็นผีดูดเลือดและทำร้ายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 17 ในโปแลนด์ก็มีความเชื่อว่าเกิดการแพร่กระจายของแวมไพร์ไปทั่วทุกแห่ง เป็นที่มาของการฝังศพอย่างแปลกประหลาดตามพิธีกรรมและความเชื่อ ซึ่งกลายเป็นวิถีปฏิบัติทั่วไปในยุคนั้น

โปลินสกีและซากรอดซกาวางแผนว่าจะกลับไปขุดค้นสุสานแวมไพร์แห่งนี้อีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้มีแผนที่จะขุดค้นช่วงกลางคืนโดยอาศัยเทคนิคการใช้ไฟฟลูออเรสเซนต์ร่วมด้วย โดยหวังว่าจะช่วยให้ค้นพบโครงกระดูกใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : Nicolaus Copernicus University, Miroslaw Blicharski, Oscar Nilsson