วันที่ 30 ตุลาคม นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการ ประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมอาคารบังคับน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในแม่น่าน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ ณ ศูนย์ประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นอำเภอเมืองพิษณุโลก โดยจัดขึ้นเพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ขอบเขตการศึกษา แนวคิดการศึกษาความเหมาะสมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำไปกำหนดแผนงานโครงการในขั้นต่อไปให้มีความครบถ้วนสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยมี นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สภาเกษตรกร กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ พี่น้องประชาชนจากพื้นที่อำเภอพรหมพิรามและอำเภอเมืองพิษณุโลกและสื่อมวลชนเข้าร่วมโครงการ
สำหรับความเป็นมาของโครงการสืบเนื่องจากลำน้ำน่านในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากยังขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำที่มีศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ ในพื้นที่อยู่เป็นประจำ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2566-2567 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน พบว่ามีโครงการที่มีศักยภาพเป็นอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน จำนวน 7 โครงการ และได้ทำการคัดเลือกโครงการเพื่อศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย ด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ คือ โครงการประตูระบายน้ำ น้ำปั้ว-ไหล่น่าน ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ คือ โครงการประตูระบายน้ำฆะมัง ตำบลฆะมัง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร แล้วเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2567
ต่อมาในปี พ.ศ. 2567-2568 กรมชลประทาน ได้มีแผนงานโครงความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่านจังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ กรมชลประทานมีระยะเวลาการดำเนินงาน 540 วัน โดยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาทบทวนแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่านการคัดเลือกโครงการมาทำการศึกษาความเหมาะสม จำนวน 3 โครงการ, การคัดเลือกโครงการมาทำการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดระยะเวลากาการศึกษา โดยจากผลคัดเลือกแผนงานโครงการอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน พบว่าโครงการท้ายเมืองพิษณุโลก ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งโครงการที่มีศักยภาพในลำดับต้น จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำไปกำหนดแผนงานโครงการในขั้นต่อไปให้มีความครบถ้วนสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนต่อไป