มหาวิทยาลัยโตเกียวอันทรงเกียรติ มีจำนวนผู้หญิงกับผู้ชายที่ห่างกันอย่างมาก โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนผู้หญิง 1 คน ต่อผู้ชาย 10 คน ส่วนนักศึกษามีสัดส่วนผู้หญิง 1 คน ต่อผู้ชาย 5 คน
แม้ตัวเลขดังกล่าวมีความชัดเจน แต่มันก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ในประเทศที่มีจำนวนผู้นำหญิงน้อยมาก ในแวดวงธุรกิจและการเมือง ดังที่สังเกตได้จากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐมนตรีหญิงแค่ 2 คน จากทั้งหมด 20 คน
อย่างไรก็ตาม คณาจารย์ที่หมดความอดทน เริ่มรณรงค์ด้วยโปสเตอร์ที่เน้นย้ำถึงคำพูดเหยียดเพศต่อนักวิชาการหญิง และกล่าวหาว่า มหาวิทยาลัยมีความไม่เท่าเทียมทางเพศ
เอซึเระ กล่าวว่า อคติทางเพศเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการศึกษาในญี่ปุ่น ซึ่งครูโรงเรียนกวดวิชาคนหนึ่งเคยบอกกับเธอว่า เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเก่งคณิตศาสตร์ นั่นจึงทำให้เอซึเระหันไปสนใจด้านมนุษยศาสตร์แทน แม้เธอเริ่มสนใจในการเขียนโปรแกรมในเวลาต่อมาก็ตาม กระนั้น เธอยังคงรู้สึกว่าตัวเอง “ถูกปฏิเสธศักยภาพ”
ทั้งนี้ การรณรงค์ด้วยโปสเตอร์ในมหาวิทยาลัยโตเกียว เกิดขึ้นจากการสำรวจบุคลากรและนักศึกษาเกือบ 700 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งโปสเตอร์ดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงทางออนไลน์ โดยหลายคนแสดงความคิดเห็นสนับสนุนแนวคิดข้างต้น แต่บางคนก็กล่าวว่า ผู้หญิงไม่สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือแม้กระทั่งดูถูกว่า “พวกเธอไม่ฉลาดมากนัก”
แม้มหาวิทยาลัยแห่งอื่นของญี่ปุ่น มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งซึ่งมีความสมดุลทางเพศที่เท่าเทียมกัน กลับไม่ให้ความสำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์มากนัก
อนึ่ง ญี่ปุ่นอยู่อันดับต่ำสุดในข้อมูลปี 2565 จากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ด้านจำนวนนักศึกษาหญิงที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์, เทคโยโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ทั้งที่ผลการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของนักเรียนหญิงชาวญี่ปุ่น อยู่ในระดับสูงสุดของประเทศสมาชิกโออีซีดี
เมื่อปี 2561 เรื่องอื้อฉาวหนึ่งปะทุขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ยอมรับว่าจงใจลดคะแนนสอบเข้าของผู้สมัครหญิง ซึ่งการสอบสวนภายในพบว่า มาตรฐานดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะคณาจารย์คิดว่า แพทย์หญิงไม่สามารถทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมงได้ ส่วนการสืบสวนของรัฐบาลพบว่า มหาวิทยาลัยอื่นอีก 3 แห่ง กีดกันผู้หญิงในลักษณะเดียวกัน
ขณะที่ นางกิงโกะ คาวาโนะ ศาสตราจารย์ผู้รับผิดชอบด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จากมหาวิทยาลัยคิวชู กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีอุปสรรคมากมายที่ต้องข้ามผ่านให้ได้ และหากเด็ก ๆ ถูกกล่าวหาด้วยคำพูดที่มีอคติทางเพศเป็นประจำ มันก็มีความเสี่ยงที่เด็กจะซึมซับแนวคิดที่ว่า เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือ หรือเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP