ญี่ปุ่นยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หลังเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์กับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 แต่สัดส่วนการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งถือว่า “สกปรกที่สุด” ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำขนาดใหญ่ของโลก 7 แห่ง หรือ “จี7” ทำให้ญี่ปุ่นพยายามลดการปล่อยมลพิษ และกลับมาใช้พลังงานปรมาณูอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
ณ โรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาริวะ ขนาดประมาณ 400 เฮกตาร์ กำแพงสูง 15 เมตร เป็นเพียงมาตรการเดียวที่จะป้องกันภัยพิบัติครั้งใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านที่กระวนกระวายใจ
“เราเชื่อว่า อุบัติเหตุที่คล้ายคลึงกับกรณีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ สามารถหลีกเลี่ยงได้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในตอนนี้ ญี่ปุ่นมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เข้มงวดที่สุดในโลก” นายมาซากิ ไดโตะ รองผู้อำนวยการของโรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาริวะ กล่าว
นอกเหนือจากกำแพงกันคลื่นสึนามิโรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาริวะ ยังมีรถจ่ายไฟฟ้าสำรองคันใหม่บนพื้นที่สูง เพื่อรับประกันการมีไฟฟ้าใช้ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว รวมถึง “แผงระบายแรงดันการระเบิด” และช่องระบายอากาศใหม่ ซึ่งออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาคกัมมันตรังสีได้ถึง 99.9% ตลอดจนปรับปรุงและยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัย
ก่อนเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2554 พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าให้กับญี่ปุ่น ในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าที่เหลือเป็นส่วนใหญ่ ทว่าหลังจากภัยพิบัติ ทางการญี่ปุ่นก็สั่งระงับการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 54 ตัว รวมถึงเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน และนํ้ามัน ควบคู่กับการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาแพง ซึ่งการนำเข้าเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ญี่ปุ่นเสียเงินประมาณ 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 17,000 ล้านบาท) และไม่ช่วยให้ประเทศบรรลุคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพอากาศด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลโตเกียวพยายามบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 46% ภายในปี 2573 จากระดับในปี 2556 อีกทั้งต้องการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 36-38% จากประมาณ 20% และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหลือ 41% จากสัดส่วนราว 2 ใน 3 ในปัจจุบัน
ด้านนางฮันนา ฮักโก ผู้สันทัดกรณีด้านพลังงานในญี่ปุ่น จากคลังสมองด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ “อี3จี” (E3G) คิดว่า ญี่ปุ่นสามารถตั้งเป้าหมายให้สูงกว่านี้ และใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 70-80% ภายในปี 2578 ซึ่งจะทำให้ประเทศเลิกใช้ถ่านหินได้
แต่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือของญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ญี่ปุ่น พยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้กับศูนย์ข้อมูลสำหรับเอไอ ซึ่งต้องการพลังงานมหาศาล.