ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นางชาเนล แมคกี คุณแม่ลูกสองคนหนึ่งจากรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่เป็นสวิงสเตต หรือไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ บริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดเท่านั้น เพราะเธอไม่ชอบกลิ่นของก๊อกน้ำในห้องครัว และเลี่ยงที่จะใช้มัน จนถึงขั้นที่เธอยอมซื้อน้ำ และนำมาต้มก่อนการใช้งานทุกครั้ง
“ฉันอยากให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป ฉันอยากให้ลำธารใสสะอาด ฉันต้องการให้ทุกอย่างสะอาด ฉันแค่ต้องการให้มันดีสำหรับเราและเด็ก ๆ เพื่อที่พวกเราจะได้ใช้ชีวิตต่อไป โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับน้ำและทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ฉันเบื่อเต็มทนแล้ว” แมคกี กล่าว
วิกฤติที่แมคกีเผชิญอยู่ เริ่มต้นในปี 2557 เมื่อทางการรัฐมิชิแกน ตัดสินใจเปลี่ยนแหล่งน้ำของเมืองฟลินต์ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี ตามมาตรการประหยัดค่าใช้จ่าย
แต่แทนที่จะดึงน้ำจากทะเลสาบในภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่รัฐกลับตัดสินใจใช้น้ำจากแม่น้ำที่มีมลพิษและเป็นกรด ส่งผลให้ชาวเมืองประมาณ 100,000 คน สัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมาก เป็นเวลานานกว่า 1 ปี
แม้เจ้าหน้าที่รัฐชุดเดียวกันกล่าวว่า ท่อตะกั่วส่วนใหญ่ได้รับการเปลี่ยนใหม่แล้ว และน้ำประปาในปัจจุบัน สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย แต่ชาวเมืองจำนวนมากยังคงยืนกรานไม่ดื่มน้ำประปา และความไม่ไว้วางใจที่มีต่อทางการ ก็ขยายวงกว้างไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี “ทั้งสองคน”
เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และตัวแทนพรรครีพับลิกัน ซึ่งเดินทางเยือนรัฐมิชิแกน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แมคกีตั้งคำถามว่า ทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงอะไรในเมืองฟลินต์ได้บ้าง และเขาจะทำอะไรให้กับชาวเมืองบ้าง ส่วนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี และแคนดิเดตของพรรคเดโมแครต แมคกีไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเธอเป็นใคร
ด้านนายเดนนิส โรบินสัน ชาวเมืองฟลินต์ วัย 69 ปี กล่าวว่า ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเมืองนี้ และปัญหาที่ชาวเมืองเผชิญอยู่ พร้อมกับเสริมว่า เขาสังเกตเห็นปัญหาด้านการเรียนรู้ของเด็กหลายคนในพื้นที่ โดยเขาเชื่อว่า มันมีความเชื่อมโยงกับการได้รับสารตะกั่ว ซึ่งการสังเกตการณ์ของโรบินสัน ได้รับการยืนยันและการสนับสนุน จากงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น
อนึ่ง โครงการริเริ่มหลายโครงการ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ และทำให้เมืองฟลินต์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติทางการเงินในปี 2551 หลุดพ้นจากภาวะซบเซา
อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองในสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ยังใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน อีกทั้งร่องรอยของความเสียหาย และความผิดหวังในพื้นที่ส่วนใหญ่ ส่งผลให้เมืองฟลินต์ยังไม่สามารถสลัดภาพลักษณ์ของ “เมืองที่ปนเปื้อน” ออกไปได้.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES