เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.ฯ, พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1ฯ, พ.ต.ท.พีรบูรณ์ แก้วดู รอง ผกก.สส.1ฯ, พ.ต.ท.เอกศิษฐ์ วรกิตติ์ฐากรณ์ รอง ผกก.สส.1ฯ สั่งการให้ พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี สว.กก.สส.1ฯ พร้อมชุดปฎิบัติการที่ 4 บก.สส.บช.น. จับกุมตัวนายสุรสิทธิ์ หรือบิ๊ก สาธร อายุ 30 ปี ชาวจังหวัด สกลนครน ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5180/2567 ลงวันที่ 28 ต.ค. 67 ความผิดฐาน “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้า หรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้ ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม”

พร้อมด้วยของกลาง จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย 1.เสื้อแขนกุดสีเทา จำนวน 1 ตัว (ตรวจยึดจากห้องพักของผู้ต้องหา) 2.กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล จำนวน 1 ตัว (ตรวจยึดจากห้องพักของผู้ต้องหา) และ 3.รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮอนด้าเวฟ สีดำ (ตรวจยึดจากหน้าห้องพักของผู้ต้องหา) โดยจับได้ที่บริเวณห้องพัก หอพักไม่มีชื่อ แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สืบเนื่องจากผู้ต้องหาได้ตระเวนขับรถจยย. เพื่อก่อเหตุลักทรัพย์ จนกระทั่งสบโอกาส และได้เข้ามาก่อเหตุในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านพญาไท กระทั่งชุดสืบสวนแกะรอยติดตามจับกุมตัวไว้ได้

สอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้กระทำความผิดจริง โดยอ้างว่ามีเจ้าที่ เจ้าทาง บอกให้มาลักทรัพย์ ฝาท่อระบายน้ำที่จุดดังกล่าว จากนั้นได้นำไปขายได้เงินมา 2-3 ร้อยบาท เอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

จากการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของนายสุรสิทธิ์ พบว่าเคยถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา 1.ข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง เมื่อ พ.ศ. 2560 2.ข้อหาเสพยาเสพติด สน.ดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2563 และ 3.ข้อหาเสพยาเสพติดสภ.กุสุมาลย์ จว.สกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2564 เบื้องตนจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า ไม่ได้ปักใจเชื่อคำให้การผู้ต้องหาแต่อย่างใด ซึ่งผู้ต้องหามีประวัติเกี่ยวกับการครอบครองและเสพยาเสพติด น่าจะทำไปเพราะยาเสพติด ขอให้ทุกคนอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากคุณสงสัยว่าคนในครอบครัว ลูกหลาน หรือคนใกล้ตัวมีการใช้และเสพติดยาเสพติด สอบถามและพูดคุยอย่างเข้าใจ โดยไม่ใช่อารมณ์และไม่โทษผู้เสพ หากมีการพูดคุยแล้ว หรือไม่สามารถรับมือกับผู้เสพได้ ขอให้คุณติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไป.