ยังเป็นที่สงสัยของเหล่าคนทำงานว่า กรณีเจ็บป่วยต้องลางานนั้น สามารถเบิกเงินชดเชยการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมได้หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม พบว่า ผู้ประกันตน ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่ม 3 มาตรา คือ 1. มาตรา 33 ผู้ประกันตนในระบบที่มีนายจ้าง 2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือลูกจ้างในระบบ ที่ลาออกแล้วแต่เลือกจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องเอง และ 3. มาตรา 40 คือแรงงานที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง

มาถึงเรื่องของการเจ็บป่วย ต้องหยุดงานนั้น จากข้อมูลพบว่า ทั้ง 3 กลุ่มสามารถใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้ได้ ดังนี้ “ผู้ประกันตนตามมาตรา 33” ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน (ภายใน 15 วันก่อนป่วย) หากลาป่วยเกิน 30 วัน จากทุกโรค ไม่ว่าจะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือต้องพักรักษาตัวที่บ้าน ก็สามารถขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน สูงสุดไม่เกิน 180 วัน (ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน)

ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยโรคอะไร ก็สามารถขอรับเงินชดเชยดังกล่าวได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน คือลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ 30 วันต่อปี หากเจ็บป่วยต้องหยุดงานแล้วอยู่ในช่วงเวลาตามสิทธิดังกล่าว นายจ้างต้องเป็นคนดูแล ให้ลาป่วยโดยไม่หักเงิน ในกรณีลูกจ้างก็ไม่สามารถใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมได้ แต่หากลูกจ้างลาป่วยจนครบ 30 วันแล้ว ยังมีการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้หวัด แล้วแพทย์สั่งให้รักษาตัวอีก 5 วัน ทางบริษัทให้ลาได้ แต่มีการหักค่าจ้าง ซึ่งในส่วนนี้ลูกจ้างก็สามารถใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมได้ ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

วิธีการขอรับสิทธิ คือ ลูกจ้างสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม จากนั้น กรอกเอกสารแล้วยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง หรือ สามารถยื่นแบบฟอร์มออนไลน์ก็ได้ โดยแนบเอกสาร อาทิ บัตรประชาชน, ใบรับรองแพทย์, ใบรับรองของบริษัทที่ระบุถึงกรณีการลาป่วยที่จำเป็นต้องหักเงินของลูกจ้าง, บัญชีธนาคาร เป็นต้น จากนั้นก็รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ข้อเท็จจริง ครบถ้วน

“มาตรา 39” ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน (ภายใน 15 วันก่อนป่วย) สามารถขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้ที่ 50% คิดจากอัตราการนำส่งเงินสมทบ 4,800 บาท เบิกได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน สูงสุดไม่เกิน 180 วัน (ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน)

“มาตรา 40” ซึ่งแบ่งตามการส่งเงินเข้ากองทุน 3 ทางเลือก ดังนี้ “กรณีทางเลือกที่ 1” หากเป็นผู้ป่วยใน (ต้องรักษาในรพ.) รับเงินชดเชยการขาดรายได้ 300 บาทต่อวัน หากเป็นผู้ป่วยนอกที่พักรักษาตัว 200 บาทต่อวัน หากเป็นผู้ป่วยนอกแต่ไม่ได้พักรักษาตัว 50 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี) ระยะเวลารับเงินสูงสุด 30 วัน “กรณีทางเลือกที่ 2″ หากเป็นผู้ป่วยใน 300 บาทต่อวัน ผู้ป่วยนอกที่พักรักษาตัว 200 บาทต่อวัน ผู้ป่วยนอก ไม่พักรักษาตัว 50 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี) ระยะเวลารับเงินสูงสุด 30 วัน ส่วน “กรณีทางเลือกที่ 3” หากเป็นผู้ป่วยใน 300 บาทต่อวัน เป็นผู้ป่วยนอก พักรักษาตัว 200 บาทต่อวัน ระยะเวลารับเงินสูงสุด 90 วัน.