ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ดวงจันทร์ปรากฏเต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปีเพิ่งผ่านไป โดยต่อเนื่องจากนี้ “ฤดูหนาว” กำลังจะเริ่มขึ้นยังคงมีปรากฏการณ์ท้องฟ้าไฮไลต์น่าติดตาม และมีความสวยงามของกลุ่มดาวเด่นฤดูหนาวที่ส่องแสงสว่างประดับฟ้าให้รอชม

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บอกเล่าถึง ปรากฏการณ์ท้องฟ้าน่าชมช่วงปลายปีและต่อเนื่องน่าติดตามในปีหน้าและกลุ่มดาวดวงเด่นฤดูหนาว ว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเริ่มต้นของเทศกาลดูดาว รับลมหนาว โดยสดร.เตรียมเปิดเทศกาล โดยจัดขึ้นคืนวันเสาร์แรกของเดือนพฤศจิกายนเชิญชวนผู้สนใจดวงดาวเข้าร่วมกิจกรรม 

ดาวหาง ดาวศุกร์และทางช้างเผือก

ส่วนปรากฏการณ์ท้องฟ้าน่าติดตามต่อเนื่องถึงปลายเดือนตุลาคม ยังคงเป็น ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ดาวหางที่สว่างที่สุดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่มองเห็นได้บนท้องฟ้าของประเทศไทยล่าสุดในช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์ และเข้าใกล้โลก ความสว่างของดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่ปรากฏมีความสว่างพอ ๆ กับดาวศุกร์ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในสถานที่ที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน

นอกจากความสว่างที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อีกความพิเศษคือ หางของดาวหางค่อนข้างยาว เมื่อเทียบกับดาวหางที่ผ่านมาที่เคยได้เห็นกัน โดยช่วงเวลานี้ยังคงติดตามชมได้จนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยความสว่างปรากฏของดาวหางจากที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจะลดลง จะมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น

“ช่วงเวลานี้หากสังเกตรอชมดาวหางสามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาเย็นนับแต่หัวคํ่า ทางทิศตะวันตก โดยดาวหางจะอยู่ทางขวาของดาวศุกร์ (ช่วงเวลานี้ดาวศุกร์จะสว่างที่สุดบนท้องฟ้า) โดยดาวหางจะห่างออกมาประมาณ 20 องศา และช่วงเวลานี้ดาวหางจะเปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุดที่ดาวหางเข้าใกล้โลกในวันที่ 13 ตุลาคม อยู่ที่ระยะประมาณ 70 ล้านกิโลเมตร แต่ปัจจุบัน ดาวหางมีวงโคจรที่ออกห่างออกไปเรื่อย ๆ โดยช่วงชีวิตเราจะไม่ได้เจออีก  เป็นดาวหางคาบยาว มีคาบวงโคจรที่เข้ามาในระบบสุริยะมากกว่า 200 ปี ซึ่งไม่เหมือนกับดาวหางฮัลเลย์ที่มีคาบวงโคจรที่สั้น ทุก ๆ 76 ปีจะเข้ามาใกล้โลก”

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เป็นดาวหางที่ถูกค้นพบโดยหอดูดาวจื่อจินซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS โดยนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ เป็นความโดดเด่นอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้ได้สังเกตการณ์ในช่วงเวลานี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับการชมดาว แต่อย่างไรแล้วการดูดาว ดูได้ต่อเนื่อง โดยแต่ละฤดูกาลจะมีกลุ่มดาวปรากฏให้ชมให้สังเกตต่างกัน

สังเกตการณ์ดาวหาง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่

“ช่วงเวลานี้หลายพื้นที่ที่เริ่มสัมผัสได้กับสายลมเย็นของฤดูหนาว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ เริ่มมีสภาพอากาศเย็นสบายท้องฟ้าใสเคลียร์ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นจังหวะดีที่จะสังเกตดาวหาง ดวงดาวทั้งมีโอกาสได้ชม ใจกลางทางช้างเผือก ด้วยเช่นกัน ใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง กับกลุ่มดาวคนยิงธนู สามารถสังเกตได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นับแต่ช่วงหัวคํ่าเป็นต้นไป นอกจากนี้จะได้เห็น ดาวศุกร์ ที่ส่องสว่าง เห็นดาวหางโดยอยู่ด้านข้าง และทางด้านซ้ายมือก็จะเป็นใจกลางทางช้างเผือกและวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ”

ส่วนหลังจากนี้ไปจะเป็นการสังเกตการณ์เกี่ยวกับ ดาวเคราะห์ที่จะเข้ามาใกล้โลก โดยในเดือนธันวาคม “ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เข้าใกล้โลกมากที่สุด” อีกปรากฏการณ์น่าติดตาม  เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวยังมี ดาวเสาร์ ให้สังเกต โดยดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งที่สูงแทบจะกลางท้องฟ้า สังเกตเห็นได้ง่ายอีกทั้งมี กลุ่มดาวฤดูหนาว โดยที่รู้จักกันไม่ว่าจะเป็น กลุ่มดาวนายพราน กระจุกดาวลูกไก่ กลุ่มดาววัว ฯลฯ ซึ่งสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน

ดาวพฤหัสบดี

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ อธิบายอีกว่า สำหรับดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้โลกจะเป็นช่วงที่สามารถจะสังเกตได้ตลอดทั้งคืน นับแต่ช่วงหัวคํ่าทางทิศตะวันออกไปจนถึงรุ่งเช้า โดยจะข้ามไปอยู่ทางทิศตะวันตกซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีเวลาค่อนข้างนานที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ สามารถสังเกตเห็นรายละเอียดต่าง ๆ โดยที่น่าสนใจคือ แถบพายุบนดาวในแต่ละปี ส่วนปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีซึ่งจะมีปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม มีแสงจันทร์รบกวนเป็นอุปสรรคต่อการสังเกตการณ์ฝนดาวตก

“ปีนี้ดวงจันทร์โดดเด่น ยังคงน่าติดตามเฝ้าชม โดยดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตเห็นได้ง่าย ถ่ายภาพได้ง่าย และยังเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ของหลาย ๆ ประเทศ
ตั้งเป้าส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ สร้างยานสำรวจ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทั้งด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีการควบคุมระยะไกล นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ

ดวงจันทร์ ยังสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ เป็นวัตถุท้องฟ้าที่ชวนค้นเรื่องราวความน่าลึกลับ หลงใหล อย่างครั้งล่าสุดที่ผ่านไปก็มีปรากฏการณ์ Super Full Moon อีกทั้งการสังเกตดวงจันทร์ยังบ่งบอกปริมาณฝุ่นบนท้องฟ้าได้อีกด้วย โดยถ้าสังเกตดวงจันทร์ช่วงที่มีค่า pm2.5 น้อย ท้องฟ้าใสกระจ่างจะเห็นสีของดวงจันทร์เป็นสีขาวสว่าง แต่หากเห็นสีของดวงจันทร์เป็นสีเหลืองนวล สีส้มแดง ฯลฯ ก็บ่งบอกได้ถึงปริมาณฝุ่นและหมอกควันในอากาศ

ดาวเสาร์

สำหรับปี 2568 ในเดือนมกราคม จะมี ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลก โดยจะเกิดขึ้นทุก 2 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถสังเกตเห็นขั้วนํ้าแข็ง แถบเมฆบนดาวอังคารได้อย่างชัดเจนผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายนับแต่ 70 เท่าขึ้นไป สามารถสังเกตรายละเอียดบนดาวอังคารได้ซึ่งเป็นไฮไลต์ต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึงต้นปีหน้ายังมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์น่าชมอีกหลายปรากฏการณ์ โดยปีหน้าเป็นปีที่เข้าสู่วัฏจักรของดวงอาทิตย์ อาจได้รับฟังข่าวสารเกี่ยวเนื่องกับการ Active ของดวงอาทิตย์ถี่ขึ้น อีกทั้งในปี 2568 จะมีปรากฏการณ์ จันทรุปราคาแบบเต็มดวง มีปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลก ฝนดาวตก ฯลฯ และอีกหลากหลายให้ติดตาม โดยสามารถอัปเดตได้ทางเพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  แต่อย่างไรแล้วปลายฝนต้นหนาวช่วงเวลานี้มีกลุ่มดาวฤดูหนาวเริ่มส่องแสงสว่างให้ชม ต้อนรับลมหนาวฤดูหนาวที่กำลังเริ่มขึ้น

เติมสีสันความงามให้กับท้องฟ้ายามรัตติกาล อีกมนต์เสน่ห์ของฤดูกาล.

                                                                                                  พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)