จากกรณีวันที่ 26 ต.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ออกมาแถลงภายหลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยระบุว่าในวันที่ 28 ต.ค. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะได้ส่งสำนวนคดีให้กับดีเอสไอตามข้อกฎหมาย เนื่องจากมูลค่าความเสียหายมากกว่า 300 ล้านบาท และมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก พร้อมยืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านสำนวนของหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นเพียงการทำตามกฎหมาย และทั้ง 3 หน่วยงาน อันประกอบด้วย ตร. ดีเอสไอ และ ปปง. จะยังทำงานร่วมกัน หากติดขัดปัญหาใดทางฝ่ายการเมืองพร้อมที่จะเข้าไปช่วย ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า ขณะนี้ดีเอสไอ อยู่ระหว่างประสานกับทางตำรวจว่าจะเป็นการส่งมอบสำนวนคดีในรายละเอียดประเด็นใดบ้าง เพราะตามหลักการแล้วทางตำรวจจะต้องส่งสำนวนคำร้องทุกข์มาให้ดีเอสไอตรวจสอบ ซึ่งหากดีเอสไอ ได้รับสำนวนจากตำรวจแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาเป็นคดีพิเศษได้ด้วยอำนาจของอธิบดีฯ หากพิจารณาแล้วเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เป็นคดีอาญาที่มีความผิดซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ เป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และ 2.หากคดีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่อธิบดีฯ จะพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ก็จะมีการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการคดีพิเศษแทน อีกทั้งจะต้องดูรายละเอียดภายในสำนวนของตำรวจด้วยว่าประเด็นข้อกล่าวหาใดที่จะอยู่ในอำนาจของดีเอสไอที่จะรับไปดำเนินการต่อได้ เช่น ข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างจากข้อกล่าวหาฟอกเงินทางอาญาที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นฐานความผิดในอำนาจของดีเอสไอตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

เมื่อถามว่าทางตำรวจได้ดำเนินการทางคดีอาญามาก่อนแล้ว โดยการแจ้งความดำเนินคดีต่อบรรดา 18 บอส ซึ่งหากดีเอสไอจะพิจารณารับเป็นคดีพิเศษนั้น จะรับไม้ต่อในประเด็นของกลุ่มผู้ต้องหาลอตที่ 2 หรือไม่ โฆษกดีเอสไอ แจงว่า เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประการสำคัญที่ดีเอสไอต้องขอตรวจสอบรายละเอียดภายในสำนวนของตำรวจที่จะโอนมาให้ดีเอสไอก่อนว่าจะมีประเด็นใดบ้างที่เราต้องรับไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้ การดำเนินการใดๆ ของดีเอสไอจะต้องยึดหลักความถูกต้องและเป็นไปตามข้อกฎหมาย.