Health & Life อ้างคำพูดของรองศาสตราจารย์ ดร.เหงียนถิกิมเลียน หัวหน้าแผนกฟื้นฟูสมรรถภาพของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเวียตดุ๊ก ที่กล่าวว่าการ “วิ่งจ๊อกกิ้ง” หรือ “การเดิน” เป็นกีฬาที่ดีสำหรับสุขภาพ และง่ายต่อการฝึกฝน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการวิ่งกับการเดินแล้ว การวิ่งให้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ดีกว่า เช่น

  • ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่า
  • ลดน้ำหนักได้มากกว่า
  • การจ๊อกกิ้งสัปดาห์ละ 50 นาที ช่วยให้สุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และสุขภาพจิตดีขึ้น
  • โดยเฉพาะผู้สูงอายุ การวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นทางเลือกที่ดีในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
  • ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
  • ปรับปรุงความหนาแน่นของกระดูก
  • ปรับปรุงคอเลสเตอรอลในเลือด (ไขมันในเลือด)
  • จำกัดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสาเหตุอื่นๆ
  • ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
  • ต้านการอักเสบ
  • ด้านจิตใจ การวิ่งจ๊อกกิ้งช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

การวิ่งที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร?

ผู้เริ่มต้นวิ่งจ๊อกกิ้งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับ “ความเร็วในการวิ่ง” ควรเริ่มด้วยการก้าวช้า ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเร็วเมื่อเวลาผ่านไป การวิ่งเร็วตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้เหนื่อยและวิ่งได้ช้าลง

เทคนิคหนึ่งที่สามารถช่วยนักวิ่งมือใหม่ได้ คือ “การวิ่งสลับกับการเดิน” โดยเลือกอัตราการก้าวด้วยการวิ่งปานกลาง (สามารถพูดขณะวิ่งได้) ตามระยะเวลาที่กำหนด เริ่มวิ่ง 1 นาที จากนั้นเดิน 1 นาที แล้วทำซ้ำไปเรื่อย ๆ

เมื่อร่างกายเริ่มชินกับท่าวิ่ง จะไม่เหนื่อยเร็ว การวิ่งจะง่ายขึ้น จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มจำนวนนาทีที่คุณวิ่งได้

แต่สำหรับคนที่ร่างกายไม่สะดวกในการวิ่งจริง ๆ การเดินก็มีประโยชน์มากมายเช่นกัน

ประโยชน์ของการเดิน

จากบทความบนเว็บไซต์โรงพยาบาล Medlatec General นายแพทย์ดินห์วันชิญ กล่าวถึงคุณประโยชน์ที่โดดเด่นของการเดิน

  • ลดอาการปวดข้อ

หลายๆ คนคิดว่าคนที่เป็นโรคกระดูกและโรคข้อ ไม่ควรเดิน อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Preventive Medicine แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีอาการปวดข้อ การเดินวันละ 10 นาที จะช่วยให้อาการไม่แย่ลง

  • ปรับปรุงระบบย่อยอาหาร

การเดินช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวในลำไส้ จึงย่อยอาหารได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารในร่างกาย แถมยังป้องกันอาการท้องผูกได้อีกด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำงานออฟฟิศ หรือนั่งเยอะๆ

  • อาการนอนไม่หลับดีขึ้น

หากเดินช่วงเย็นหลัง 19.00 น. จะช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับยาก นอนไม่หลับได้ แต่ไม่ควรเดินใกล้เวลานอนมากจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ที่ส่งผลให้นอนหลับยาก

  • ลดความเครียดและความวิตกกังวล

ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะมีความเครียดและวิตกกังวลน้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หากคุณเดินมากขึ้นในตอนเย็น ร่างกายของคุณจะปรับการตอบสนองต่อความเครียด ลดอารมณ์ด้านลบ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น

  • เสริมสร้างสติปัญญาและความตระหนักรู้

การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Experimental Psychology แสดงให้เห็นว่า การเดินช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลารู้สึกติดขัด หรือมีปัญหาในการแก้ปัญหา ให้หยุดคิดและลุกขึ้นเดิน

นอกจากนี้การเดินยังช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมองทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ในผู้สูงอายุจะช่วยไม่ให้เซลล์ประสาทเสื่อม

ไม่ว่าจะ “วิ่งจ๊อกกิ้ง” หรือ “เดิน” ก็ควรฟังร่างกายของคุณ เพื่อดูว่ากีฬาประเภทไหนที่เหมาะกับคุณ และความเข้มข้นระดับไหน สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางเลือกในการออกกำลังกายที่เหมาะสม ป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการออกกำลังกาย.

ที่มาและภาพ : VTC, soha, Duckleap Free Resources, 巻(Maki)/ Pixabay