วันที่ 25 ต.ค. คดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหมดอายุความโดยไม่สามารถนำคนผิดมาขึ้นศาลได้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ( ปช.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมคดีตากใบ

แต่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติไม่เห็นด้วย ที่จะนำคดีตากใบมาพิจารณาเป็นญัตติด่วน โดยมี สส.พรรคเพื่อไทยยกมือรับรอง โดย นายกมลศักดิ์ อภิปรายว่า เหตุการณ์ตากใบจะนำไปสู่เงื่อนไขใหม่ถ้าหากเราปล่อยโดยที่ไม่ได้ดำเนินการหรือทำให้เรื่องนี้ผ่านไปเลยโดยไม่ใส่ใจ ตอนนี้มีการเบี่ยงเบนหลายประเด็นที่ว่าทำไมเพิ่งมาฟ้องตอนนี้แม้จะได้รับเงินเยียวยาแล้ว ต้องเข้าใจกว่าประชาชนจะรวบรวมความกล้าออกมาฟ้องร้องรัฐก็เหลือเวลาอีกแค่ 1 ปีก่อนคดีจะหมดอายุความ

“ขอให้ตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ได้ ทราบว่ามีคนที่ยังทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมและภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่ผู้บังคับบัญชายังไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น ขอให้นายกฯ แสดงความจริงใจด้วยการช่วยแก้ ป.อาญา ม. 95 ว่าด้วยอายุความ” นายกมลศักดิ์ กล่าว

นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า ส่วนตัวมีความสงสัย ถ้าตนเป็นผู้สูญเสียจะฟ้องตั้งแต่วันแรก แต่ทำไมมาฟ้องในปีสุดท้าย การที่จะเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมารับผิดชอบ ในขณะที่เกิดเหตุ นายกฯยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่ คิดไม่ออกว่าจะให้นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร รับผิดชอบอย่างไร “เรื่องนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว จะมาเป็นญัตติด่วนอะไร อย่างเรื่อง 6 ตุลา 19 ผมโดนขังลืม จะเอาเรื่องนี้เข้าเป็นญัตติด่วนได้หรือไม่ ขออย่าเติมเชื้อไฟเข้ามาในกองไฟ ขอให้ถอนญัตติเรื่องคดีตากใบ” สส.ฉายาหัวเขียง กล่าว

ด้าน นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เมื่อครั้ง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ใน กมธ.กฎหมาย ยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำไมใน กมธ.ไม่สอบถามเรื่องนี้ ขอสนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เรื่องตากใบที่เพิ่งมาเป็นคดีตอนนี้ เพราะคดีถูกรื้อขึ้นมาเมื่อปี 2566 ตำรวจภาค 9 ทำคดีเสนอฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คน อัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 12 ก.ย.67

ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วน ที่ประชุมจึงมีมติส่งญัตติทั้ง 2 ญัตติ ( ของนายรอมฎอนและนายกมลศักดิ์ ) ไปยัง กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และส่งให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อศึกษาเพิ่มเติม โดยกำหนดระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก็เท่ากับคดีตากใบ เรื่องผลกระทบจากคดีขาดอายุความ การเยียวยา ต้องย้อนกลับไปศึกษากันอีก

นางอังคณา นีละไพจิตร สว. และประธาน กมธ.พัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า หากคดีตากใบหมดอายุความ อีกทางหนึ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตทำได้ก็คือไปฟ้องศาลระหว่างประเทศ หากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล ก็จะลงโทษในประเทศที่จำเลยอยู่ได้ เช่นหากไปฟ้องที่อังกฤษ จำเลยคดีตากใบที่อยู่ที่อังกฤษ ศาลอังกฤษสามารถจะลงโทษที่ประเทศอังกฤษได้โดยไม่ต้องส่งมาที่ไทย

“…ขอให้นายกฯ ได้ลงไปคุยกับผู้สูญเสีย เพื่อรู้ความรู้สึกจริงๆ ของเขาวันนี้มีสิ่งหนึ่งที่สังคมได้เห็นก็คือมีการสร้างอคติต่อเหยื่อ เช่น นักวิชาการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ออกมาพูดว่าการชุมนุมตากใบมีพวกขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : BRN ) หนุนหลัง…” นางอังคณา กล่าว

ส่วนประเด็นการเมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจ ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรตีตกข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยเสนอรูปแบบทางเลือกต่าง ๆ “รองอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ว่า เมื่อไม่รับก็ถือว่าตกไปโดยปริยายเท่านั้นเอง เพราะถ้ารับข้อสังเกตถึงจะกลับมาที่รัฐบาล พอไม่รับข้อสังเกตก็ถือว่าจบเท่านี้ จากนี้ก็จะเป็นเรื่องของสภา ตกแล้วจะใช้ได้ใหม่หรือไม่ต้องไปดูในรายละเอียด อาจเสนอใหม่ได้แต่ต้องต่างญัตติ

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิก MOU 2544 ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะมองว่าไทยจะเสียเปรียบในการปักปันเขตแดนแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ว่า MOU 2544 เราทำได้ดีแล้ว เกาะกูดเป็นของไทยมาโดยตลอด ไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาอยากได้ ชัดเจนตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสล่าอาณานิคมว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเกาะกูดหรือไม่ อย่าปลุกความคลั่งชาติ สิ่งที่ต้องคุยคือ การตกลงนำผลประโยชน์ขึ้นมาใช้ในเวลา 5 ปี อีก 10 ปีน้ำมันจะลดความสำคัญลง ไม่ใช้ก็น่าเสียดาย.