การรับรู้ความสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเศร้าแล้ว การไม่มีแม้สักคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยิ่งทำให้คดีตากใบ กลายเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันหายสนิท

ย้อนจุดเริ่มต้นโศกนาฎกรรม เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) ของบ้านโคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวน 6 คน ถูกตำรวจควบคุมตัว หลังมีการเข้าแจ้งความถูกกลุ่มคนข่มขู่ ฉกเอาปืนที่ทางการแจกจ่ายให้ไป

แต่ด้วยคำให้การที่ไม่ตรงกัน และไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้ เป็นเหตุให้ตำรวจ สภ.ตากใบ แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันยักยอกทรัพย์ และแจ้งความเท็จ

กระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 25 ต.ค.2547 ด้านหน้า สภ.ตากใบ มีการรวมตัวของมวลชนเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ.ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีมวลชนทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะนั้นเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ถือศีลอด และใกล้ถึงวันฮารีรายอ จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต ระบุ คนที่ร่วมชุมนุมบางส่วนเป็นการชักชวนกันของเพื่อนละแวกใกล้เคียง แต่บางส่วนไม่รู้ว่ามีการชุมนุมและเดินทางไปตลาดตากใบ เพื่อหาเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ช่วงฮารีรายอ เมื่อเห็นคนรวมตัวกันเยอะจึงแวะดูและร่วมชุมนุมด้วย

ในพื้นที่อ.ตากใบ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ผ่านไป 3 ชั่วโมง เวลาประมาณ 13.00 . แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น สั่งยกเลิกการชุมนุม แต่ไม่เป็นผล บรรยากาศความกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา เหตุการชุลมุนกระทั่งมีการใช้กระสุนจริง

การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเวลาประมาณ 16.00 น. สุดท้ายมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะ 7 คน อีก 78 คน เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขึ้นรถและเดินทางไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี มีการแยกผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงและเด็ก ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งถอดเสื้อ มัดมือไพร่หลัง นอนคว่ำ ก่อนมีรถยนต์บรรทุก 25 คัน มารับผู้ชุมนุมออกไป ในลักษณะให้นอนคว่ำซ้อนทับกันเป็นชั้น คันละ 40-50 คน จากผู้ชุมนุมกว่าพันคน

มีรายงานว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น ภายหลังเคยให้เหตุผลการให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อ เพราะต้องการจับกุมแกนนำที่มีประมาณ 100 คน แต่เมื่อถอดเสื้อทั้งหมดแล้วก็ไม่สามารถระบุตัวตน จึงต้องควบคุมทั้งหมดขึ้นรถ เพื่อนำตัวไปคัดกรองที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

การซ้อนทับ แออัดของผู้ชุมนุมหลายชั้นบนรถ เพื่อเดินทางไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความสูญเสียมหาศาล จากความทรมานเพราะขาดอากาศหายใจ บางคนขาดน้ำถึงขั้นไตวายเฉียบพลัน ผู้รอดชีวิตบางคนต้องพิการถาวร

โศกนาฎกรรมครั้งนี้ในด้านคดีความ ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สภ.ตากใบ ไม่มีการชันสูตรพลิกศพ และอัยการลงความเห็นในสำนวนเมื่อปี 2549 ว่าไม่พบผู้กระทำความผิด พร้อมประกาศงดการสอบสวน ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 78 คน ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งหลังสอบสวนว่าทั้งหมดขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุให้เสียชีวิต

ต่อมารัฐบาล“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมในทางคดี“กลับเงียบหาย” จวบจน“ปีสุดท้าย”ของอายุความ

เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตรวมตัวลุกขึ้นสู้ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จนนำไปสู่การรับฟ้องจำเลยที่ล้วนเป็นอดีตข้าราชการเกษียณแล้ว 7 คน ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ มี พล..พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลยที่ 1 ก่อนทั้งหมดถูกออก“หมายจับ” เพราะไม่มาตามนัดสอบปากคำ โดย พล.อ.พิศาล ถูกจับตามากที่สุด

เนื่องจากยังมีบทบาทและสถานะความเป็นส.ส.พรรคเพื่อไทย ก่อนอ้างป่วยยื่นหนังสือลาประชุมยาวไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ และสุดท้ายยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

ขณะสำนวนของตำรวจ วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งส่งให้อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน จวนเจียนขาดอายุความ โดยหนึ่งในนั้นเป็นคนเดียวกับสำนวนที่ญาติฟ้องเอง และไม่เกินคาด เมื่อการติดตามล่าตัวไปบ้านพัก หรือนัดหมายขึ้นศาลช่วงโค้งสุดท้าย จะไร้วี่แวว และความหวัง เมื่อไม่มีสักคนปรากฎตัวต่อศาล

จนล่วงนาทีสุดท้ายเที่ยงคืนของวันที่ 25 ..2567 ผลพวงสลายชุมชนตากใบที่มีผู้เสียชีวิต 85 คน ไร้ผู้รับผิดชอบทางกฎหมายอย่างแท้จริง กลายเป็นบาดแผลที่ไม่ได้รับการรักษา และจะยังคงสร้างความเจ็บปวดฝังลึกอยู่ในพื้นที่ตราบนาน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน