กทม. โดย สำนักการขนส่งและจราจร (สจส.) จึงร่วมกับ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ศึกษา ออกแบบและทดลองปรับกายภาพเส้นทางสัญจรรอบสถานีไฟฟ้า 4 ย่านสถานี ประกอบด้วย 1.ย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ศูนย์การค้าสำนักงานออฟฟิศ สถาบันการศึกษา (Central Business District) 2. แยกสถานีสามยอด พื้นที่เมืองเก่า (Old Town) 3. ย่านลาดพร้าว 71 ที่อยู่อาศัย ชุมชนเมือง และ 4. ย่านสถานีท่าพระ เมืองใหม่ (New Residential Zone) เชื่อมต่อที่ทำงานในเมืองกับที่อยู่อาศัยนอกเมือง ศูนย์กลางการเดินทางฝั่งธน

โดยการออกแบบเส้นทางเดินจักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น ป้ายจราจร สัญลักษณ์บอกทาง จากบ้าน ชุมชน ที่พักอาศัย มายังสถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือและจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางให้สะดวกปลอดภัย จัดทำขึ้นเป็นแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจร เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ. 2567-2575 กำหนดระยะเวลาศึกษาและทดลองใช้จริงในเส้นทางต่าง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เม.ย.-25 ธ.ค. 67

นายศิลป์ ไวยรัชพานิช หัวหน้าโครงการฯ และกรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ระบุว่า หลักการออกแบบที่สำคัญสำหรับเส้นทางคนเดิน คนที่ใช้จักรยาน รวมถึงรูปแบบการสัญจรทางเลือกอื่นๆ ต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญและมีความเชื่อมโยงกันในย่าน มีความสะดวกสบาย และน่าใช้ ซึ่งการทดลองปรับปรุงกายภาพเส้นทางในแต่ละย่านสถานีจะยึดหลักการออกแบบตามนี้ ซึ่งจากผลการศึกษา มูลนิธิสถาบันการเดินฯ มีข้อเสนอต่อ สจส. กทม. แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะสั้น คือการจัดทำโครงข่าย เดิน/ปั่น, ระยะกลาง (3-5 ปี) โครงข่ายเดิน/ปั่น สิ่งก่อสร้าง การขยาย และปรับปรุงทางเท้า การสร้างสะพาน/ทางลอด และระยะยาว (5-10 ปี) เป็นแนวทางการปฏิบัติงานรูปแบบมาตรฐานการออกแบบโครงข่ายทางสัญจร

ซึ่งในระยะสั้นแบ่งเป็น 3 เดือนหลังจากนี้ มูลนิธิสถาบันการเดินฯ และ กทม. จะร่วมกันทำการ ทดลองในเส้นทางต่างๆ ทั้ง 4 ย่าน โดยเลือก 2 เส้นทางของแต่ละย่านที่มีคนใช้งานเยอะ เพื่อให้ตอบโจทย์ว่า หากมีการปรับปรุงทางกายภาพในเส้นทางต่างๆ นั้น จะช่วยประชาชนในการเดินทางให้สะดวกมากขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยการเดินเท้าหรือการใช้จักรยานร่วมกับรถยนต์ที่สัญจรปกติ

โดยมีแนวทางจัดทำเป็นทางเท้าในบางเส้นทาง หรือ แบ่งเลนถนนเพื่อใช้ทางร่วมกัน ซึ่ง กทม. เองก็จะดำเนินการ ขีดสีตีเส้น ติดปัายจราจร เสมือนจริง พร้อมทั้งมีการเก็บข้อมูลผลดีผลเสีย จากนั้นจะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวทางในการปรับปรุงกายภาพที่ที่สุด ก่อนส่งแนวทางนี้ให้ กทม. นำไปดำเนินการปรับปรุงต่อไป ซึ่งคาดว่าภายใน 1 ปีแรก จะเห็นผลในเส้นทางทดลอง มีการปรับปรุงทางกายภาพให้ดีขึ้น

ด้าน รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการ วางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงการศึกษาในเส้นทางย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ ว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ถนนสุขุมวิท บริเวณดังกล่าวมีการเดินทางค่อนข้างมาก เนื่องด้วยมีอาคารสำนักงานและธุรกิจขนาดใหญ่ จึงทำให้มีทางเท้ากว้าง สิ่งที่ทำก็คือแบ่งพื้นที่สำหรับเดินเท้าและขี่จักรยาน ให้อยู่ร่วมกันในช่องหนึ่งและอีกด้านหนึ่งก็จะสำหรับเดินเท้า อีกส่วนหนึ่งก็คือตามซอยต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาของบ้านเรา ถนนในซอยแคบมาก และทางเท้ามีน้อยมาก ดังนั้นเมื่อลงสำรวจพื้นที่จริง ก็ทำให้เห็นว่าพื้นที่ใดสามารถทำทางเท้าเพิ่มได้ หรือพื้นที่ใดจะต้องปรับปรุงเป็นเส้นทางร่วม รูปแบบก็จะเปลี่ยนไปตามขนาดของพื้นที่ โดย พยายามให้ทางเดินเท้ากับคนใช้จักรยานสามารถใช้เส้นทางร่วมกันได้

โดยมี 2 เส้นทางนำร่องย่านสถานีพร้อมพงษ์ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เส้นทางที่ 1 จาก ซอยสุขุมวิท 53 ไปจนถึงท่าเรือสุเหร่าบ้านดอน ระยะทางรวม 3.63 กม. และเส้นทางที่ 2 จากซอยสุขุมวิท 39 ไปจนถึงท่าเรือ มศว ประสานมิตร ระยะทางรวม 2.46 กม.

“ในเส้นทางทองหล่อ เราจะไม่ได้ใช้ถนนทองหล่อโดยตรง แต่เลี่ยงไปใช้ซอยสุขุมวิท 53 แทน อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นย่านบ้านหรู อาจจะไม่มีใครใช้เส้นทาง แต่อย่าลืมว่าบนถนนเส้นนี้ยังมีโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงที่อยู่อาศัย ก็จะมีแรงงานต่างๆ ทั้ง แม่บ้าน พนักงานร้านอาหาร รปภ. เป็นต้น ที่ยังต้องใช้เส้นทางเดินเท้า ดังนั้นหากเราทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเดินทางได้สะดวก หรือใช้จักรยานในการสัญจร ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ อยากเดินทางมาทำงานในพื้นที่ตรงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเริ่มทำการทดลองต้นเดือน พ.ย. นี้”