เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ที่กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีภารกิจในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ได้แถลงมอบนโยบาย ประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้แนวคิด “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจแรงงานไทยมั่นคง”

 ซึ่งได้เน้นย้ำในการบริหาร และพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทยให้เพียงพอและสมดุลทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแรงงานทั้งด้าน Upskills และ Reskills เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจว่า Upskills และ Reskills ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ ของดีที่ต้องไม่พลาด และขยายผลและพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงการส่งเสริมให้แรงงานใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่การทำงาน และแรงงานในปัจจุบันได้มีการพัฒนาศักยภาพแรงงาน

นายเดชา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับข้อสั่งการจาก รมว.แรงงาน โดยในปี 2568 กรมมีเป้าหมายการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้ง Upskills และ Reskills กว่า 5 ล้านคน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการนำนวัตกรรมในการอบรมรูปแบบใหม่ นั่นคือ การอบรมแบบออนไลน์หรือการจัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์ ที่มุ่งเน้นให้แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบันสามารถเข้ามาพัฒนาทักษะได้ในช่วงเวลาเลิกงาน ผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 13 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โครงการยกระดับและพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้แรงงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เช่น สาขาช่างเชื่อม ซึ่งมีความต้องการ ทั้งสถานประกอบกิจการในประเทศและความต้องการในต่างประเทศ และสาขาอื่นๆ ได้ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือทั่วประเทศเพิ่มสาขาอาชีพ ให้ครอบคลุม 129 สาขาที่ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว รวมถึงมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมศักยภาพแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาทักษะให้แก่ลูกจ้างของตนอีกด้วย