สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่า อุโมงค์นิรภัยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์ (เอสจีเอสวี) ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในภูเขา เพื่อทนต่อภัยพิบัติต่าง ๆ ตั้งแต่สงครามนิวเคลียร์ ไปจนถึงภาวะโลกร้อน เปิดตัวเมื่อปี 2551 ในฐานะคลังสำรองสำหรับธนาคารยีนของโลก ซึ่งจัดเก็บรหัสพันธุกรรมของพืชหลายพันสายพันธุ์

เอสจีเอสวี ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “อุโมงค์นิรภัยแห่งวันสิ้นโลก” ที่ได้รับการปกป้องโดยชั้นดินเยือกแข็ง รับฝากตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชจากทั่วโลก และมีบทบาทนำระหว่างปี 2558-2562 ในการสร้างคอลเลกชันเมล็ดพืชที่ได้รับความเสียหายจากสงครามในซีเรีย ขึ้นมาใหม่

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความขัดแย้ง คุกคามโครงสร้างพื้นฐาน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนมากกว่า 700 ล้านคน ในกว่า 75 ประเทศทั่วโลก นายสเตฟาน ชมิตซ์ กรรมการบริหารขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “ครอป ทรัสต์” กล่าวในแถลงการณ์

สำหรับการฝากเมล็ดพืชในครั้งนี้ โบลิเวียดำเนินการบริจาคเมล็ดพันธุ์ “เป็นครั้งแรก” เช่นเดียวกับผู้ฝากรายใหม่อย่างประเทศชาด ซึ่งส่งมอบตัวอย่างของงา, ข้าว, ข้าวโพด และข้าวฟ่าง จำนวน 1,145 รายการ โดยตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศของประเทศ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาพืชผลที่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น และฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ

ทั้งนี้ ตัวอย่างเมล็ดพืชใหม่ทั้งหมดมีมากกว่า 30,000 ตัวอย่าง จาก 21 ประเทศ ซึ่งรวมถึงเมล็ดพันธุ์ของผัก, พืชตระกูลถั่ว และสมุนไพรจากสหภาพคณะกรรมการงานเกษตรกรรม (ยูเอดับเบิลยูซี) ในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองด้วย.

เครดิตภาพ : AFP