จากกรณีมีชาวเน็ตรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ประกาศขายเกาะส่วนตัว นั่นคือ “เกาะขาม” จังหวัดตราด โดยมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พร้อมรีสอร์ท ราคา 1,800 ล้านบาท ลงในกลุ่มขายบ้านหรู คฤหาสน์หรู บ้านเศรษฐี จนกระทั่งเมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำเอาชาวเน็ตต่างให้ความสนใจ และแห่คอมเมนต์กันสนั่น ขณะเดียวกันก็ได้มีบางคนสงสัยว่า โพสต์จริงหรือแค่คนมาปั่นเล่น บ้างก็ตั้งคำถามว่า “ที่ดินบนเกาะนั้น สามารถซื้อขายได้จริงหรือไม่” และสามารถออกเอกสารสิทธิครอบครองได้มั้ย ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
1,800 ล้าน! ประกาศขาย ‘เกาะส่วนตัว’ พร้อมด้วยรีสอร์ทบนเนื้อที่ 10 ไร่

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “เว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ได้เคยออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินเกาะ พร้อมระบุว่า “เกาะในจังหวัดตราด มีทั้งสิ้นจำนวน 66 เกาะ ตั้งอยู่ใน 11 ตำบล 5 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งหมด 357.298 ตารางกิโลเมตร เกาะส่วนมากอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะช้าง รองลงมาคือ เกาะกูด ทั้งสองเกาะมีขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนเกาะที่มีขนาดรองลงมา คือ เกาะหมาก เกาะรัง เกาะกระดาด และเกาะไม้ซี้”

นอกจากนี้ “เกาะช้างเป็นเกาะที่นิยมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งบนบกและในทะเลมานานนับร้อยปี อีกทั้ง “เกาะช้าง” หมู่เกาะในจังหวัดตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมาก อาทิ เกาะกูด เกาะหมาก เกาะขาม เกาะเหลายา เกาะหวาย เกาะทรายขาว และเกาะง่าม”

อีกทั้ง หลายคนยังสงสัยว่า ทำไมถึงมีการออกเอกสารสิทธิบนเกาะได้
สำหรับเกาะในประเทศไทยส่วนมาก จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ส่วนที่มีประชาชนครอบครองที่ดินบนเกาะต่างๆ ในประเทศไทย เกิดขึ้นจากมีผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบนเกาะ ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ รวมถึงก่อนการมีกฎหมายที่ดิน  

อีกทั้ง กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเกาะประกอบด้วย ดังนี้
1. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติให้ “ป่า” หมายความว่า ที่ดินรวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล ที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย
2. ประมวลกฎหมายที่ดิน ในมาตรา 1 หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป กำหนด “ที่ดิน” หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วยหนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลด้วย และ
3. กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ในหมวด 3 โฉนดที่ดิน ข้อ 14 (3)

สำหรับ ข้อ 14 ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดิน ต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน ได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังต่อไปนี้ ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐาน แจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว

อีกทั้ง ที่ดินบนเกาะส่วนมาก จะมีผู้ครอบครองมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยาน หรือการประกาศใช้กฎหมายที่ดิน จึงทำให้ผู้ครอบครอง มักจะมีเอกสารสิทธิครอบครองแบบต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดินตราครุฑสีเขียวหรือ นส.3 ก., โฉนดที่ดินตราครุฑสีแดงหรือ นส.4, โฉนดที่ดินตราครุฑสีดำหรือนส. 3/นส.3 ข และหากเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเหล่านี้ สามารถซื้อขาย และโอนได้ หรือ ถ้าเป็นเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินตราครุฑสีน้ำเงิน หรือ ส.ป.ก.4-01, นส.2, ใบจอง สทก., ใบสิทธิที่ดินทำกิน ภ.บ.ท.5 หรือใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าหากเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเหล่านี้ จะไม่สามารถซื้อขายและโอนได้

อย่างไรก็ตาม ห้ามออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะ เว้นแต่มีใบรับรองที่เป็นหลักฐานว่าทำประโยชน์แล้ว จึงจะสามารถออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายได้อีกด้วย..

ขอบคุณข้อมูล : กรมที่ดิน พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ เว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ กลุ่มขายบ้านหรู คฤหาสน์หรู บ้านเศรษฐี