เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการร่างคำขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ เพื่อต่อยอดกระบวนการบ่มเพาะครูและนักเรียนตามเป้าหมายและอุดมการณ์ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามมติคณะรัฐมนตรี จัดโดยสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วยครู 45 คน และนักเรียน 100 คน รวมทั้งสิ้น 145 คน
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเติมเต็มความรู้สำคัญสำหรับนักเรียนและครูเครือข่ายสถานศึกษากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและกระบวนการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนที่พัฒนาขึ้นตามหลักสูตรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งในแต่ละปีการศึกษามีผลงานของนักเรียนที่ได้พัฒนาขึ้นกว่า 500 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนที่มาจากการจัดการศึกษาตามเป้าหมายมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาและปลูกฝังนักเรียนให้มีความพร้อมไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาและมุ่งสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถระดับสูงเยี่ยมในระดับเดียวกันกับนักวิจัยชั้นนำของนานาชาติ และมีจิตวิญญาณมุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติ มีเจตคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมโลกและธรรมชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศชาติและสังคมไทยในอนาคต ช่วยพัฒนาประเทศให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันได้ในประชาคมโลก ให้เป็นสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน
.
สำหรับการอบรมครั้งนี้ มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากเครือข่ายสถานศึกษากลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 50 กว่าผลงาน และที่น่าชื่นชม คือ ในปัจจุบันมีผลงานที่ได้รับการอนุมัติสิทธิบัตรแล้ว จำนวน 5 ผลงาน และอยู่ระหว่างรอการประกาศอีก 1 ผลงาน ซึ่งสะท้อนผลการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของนักเรียนตามหลักสูตรของโรงเรียนฯ โดยผู้เข้ารับการอบรม จะได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวมถึงขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการฝึกปฏิบัติการร่างคำขอจดสิทธิบัตรเบื้องต้น เพื่อให้นักเรียนและครูได้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลงานของตนเอง รวมถึงการส่งเสริมให้มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การจัดการอบรมในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
.
“โอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะวิทยากรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา บุคลากรทางการศึกษา คณะครู และนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการร่างคำขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในครั้งนี้ สพฐ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียน เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศชาติและสังคมไทยในอนาคต พร้อมทั้งช่วยพัฒนาประเทศให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันได้ในประชาคมโลกอย่างภาคภูมิ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ด้านครูณัฏฐพัชร์ เพ็ชรศรีกุล จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก ในฐานะของครูที่ปรึกษาโครงงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้วิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรแล้ว ยังช่วยยืนยันความมีคุณค่าของผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา และยังอาจสร้างแนวทางในการสร้างรายได้หรือแม้แต่การบ่มเพาะ Entrepreneurship ให้เกิดในผู้เรียนได้ด้วย
.
ขณะที่ นางสาวธนพร งามสะอาด นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ซึ่งได้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ได้กล่าวเสริมว่า ตนเองได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการร่างคำขอจดสิทธิบัตรมากขึ้น และจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อยอดศักยภาพของตัวเอง ซึ่งความท้าทายที่สำคัญของงานนี้ คือผลงานของเราได้รับการจดสิทธิบัตร ดังนั้น ตนจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติต่อไป