เมื่อวันที่ 21ต.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุรัจสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  มีการพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจา น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว.  ถาม นายกรัฐมนตรี กรณีแชร์ลูกโซ่ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของสังคม ว่า ปัญหานี้มีมาตั้งแต่ในอดีต เช่น แชร์แม่ชะม้อย เสมาฟ้าคราม ล่าสุด กรณี ดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากแชร์สมัยก่อน แต่ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ไม่ทันกับในยุคปัจจุบัน ทำให้คนตกเป็นเหยื่อ โดยมีบรรดาบุคคลมีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือมาดึงดูด รวมถึงมีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ สร้างปัญหาอย่างทวีคูณ และมีการใช้เงินนอกระบบหรือเงินคริปโตเคอร์เรนซี จึงแนะนำให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด เพราะเป็นเรื่องฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลรับปากว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู และต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะผู้ที่เข้าข่ายในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ดิไอคอน แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ ยังมองว่าขณะนี้เงินบาทไทยหายไป โดยจะมีการฟอกเงินไปยังต่างประเทศ

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รมช.คลัง  ชี้แจงแทนนายกรัฐฒนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สคบ. กระทรวงการคลัง ซึ่งในฝ่ายปฏิบัติได้ดำเนินการค่อนข้างรวดเร็วและจับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง อายัดทรัพย์ไปจำนวนมาก ทั้งหมดอยู่ในข่ายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการต่อไป ทั้งอสังหาริมทรัพย์ บัญชีต่างๆ ได้มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรง 2545, พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี 2527, พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522, ประมวลกฎหมายอาญาปี 2499, พ.ร.บ. ว่าด้วยการทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2560, พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปี 2542 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายหลายฉบับถึงวาระที่เราต้องมาพิจารณาทบทวน ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางนโยบาย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ที่ยกร่างกฎหมายหลายฉบับในอดีต

รมช.คลัง กล่าวว่า แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อยกร่างแล้วออกเป็นพระราชกำหนด ไม่มีผู้ที่ดูแลอย่างชัดเจน สุดท้ายก็มอบหมายให้ผู้ที่รักษาการตามกฎหมาย คือรมว.คลัง และรมว.มหาดไทย ดูแล และกลไกที่ผ่านมาก็จะต้องรอให้มีผู้ร้องและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะรวบรวมไปเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ประชาชนจะนึกถึงในการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการหารือถึงตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าถึงวาระแล้วหรือยังว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2527 ในหลายๆ ประเด็น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่าง ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด และกลไกต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จ เพราะเรื่องนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน

“โดยประเด็นหลักที่มีการตั้งโจทย์ไว้ ในการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับปี 2527 ประเด็นแรก คือเรื่องของบทบัญญัติโดยให้หน่วยงานที่สามารถเอาผิดไปถึงแม่ข่ายได้ ซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ยังมีช่องโหว่ จึงต้องมีการแก้ไขและต้องมีการเพิ่มโทษ ที่บางส่วนยังไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องปรับแก้เรื่องของอายุความ เมื่อคดีเข้าสู่อายุความแล้วกฎหมายของ ปปง. ก็ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องของอายุความ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีก็ทำให้อายุความขาดได้ และ เรื่องปรับเปลี่ยนผู้รักษาการตามกฎหมาย เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นหน่วยงานมีอำนาจในการปฏิบัติ เป็นหน่วยงานในเชิงนโยบาย ซึ่งมองว่ากลไกที่จะมีประโยชน์สูงสุด คือต้องให้ผู้ที่ถือกฎหมายฉบับนี้ เป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม เช่นดีเอสไอ เป็นต้น ที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือกฎหมายเพื่อให้คดีได้อยู่ในมือผู้ปฏิบัติ และสามารถดำเนินการในรูปแบบวันสต็อปให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ยังต้องปรับแก้เรื่องของการฟ้องล้มละลาย ซึ่งกลไกปัจจุบัน การฟ้องล้มละลาย กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการส่งผ่านทางสำนักงานอัยการ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนให้เปิดกว้างมากขึ้น อาจจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไปได้ ซึ่งการปรับแก้ที่สำคัญ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่ารูปแบบในการฉ้อโกงปรับเปลี่ยนไปมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นตัวกฎหมายต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทันกับผู้ที่กระทำความผิดในเทคนิคและกลเม็ดใหม่ๆ ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งกฎหมายที่จะปรับแก้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ หวังว่าการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จะสามารถป้องกันการฉ้อโกงในกรณีต่างๆได้ต่อไป

น.ต.วุฒิพงศ์ ตั้งกระทู้ถามต่อว่า ของบางอย่างที่ต้องการความรวดเร็วสามารถเสนอเป็นพระราชกำหนดได้ ในขณะที่ถ้าเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เสนอตามขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลาไม่น่าต่ำกว่า 5-6 เดือน ดังนั้นสิ่งที่จะทำแทนประชาชนได้คือการออกพระราชกำหนด เพื่อใช้แก้ไขปัญหาถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงรายละเอียดรัฐบาลต้องใช้เครื่องมือเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลออกจากประเทศไปมากกว่านี้พร้อมอธิบายว่าเลือดคือเงินตราในสกุลต่างๆ ที่สามารถแลกเปลี่ยนจากเงินบาทไปเป็นเงินคริปโตที่มีการโอนออกไป และฝากรัฐมนตรีช่วยตรากฎหมายที่จะทำให้กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายจุลพันธ์  ชี้แจงอีกรอบ ระบุ เวลาที่ภาครัฐ จะดำเนินการทางด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง โดยมากจะเลือกช่องทางในพระราชกำหนดอยู่แล้ว เพราะกรณีนี้เข้ากรอบของการออกเป็นพระราชกำหนดค่อนข้างมาก เป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ มีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งในความคิดของกระทรวงการคลัง ก็จะออกเป็นพระราชกำหนด ส่วนเรื่องภาษี ยืนยันว่า ตรวจสอบ 18 คน ย้อนหลังเรียบร้อย โดยมีบางรายไม่ได้ยื่นแบบภาษี ระหว่าง 3 – 5 ปี ซึ่งยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด จะต้องตรวจสอบว่าหลบเลี่ยงอย่างไร ขอไม่ต้องกังวล พร้อมยืนยัน ไม่มีมวยล้ม เราจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ส่วนเรื่อง เทวดา ตนเห็นความตั้งใจของนายกฯ ว่าเรามีความจริงจัง เชื่อว่า เมื่อถึงมือตำรวจแล้ว เมื่อไปตรวจคลิปเสียง ก็จะขยายผลดำเนินการต่อไปให้ถึงที่สุด ยืนยันว่า รัฐบาล จะดำเนินการให้ถึงที่สุด นำผู้กระทำความผิดไปดำเนินการให้ครบถ้วน.