เมื่อวันที่ 21 ต.ค.67 ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรมว.คลัง​ และผู้เชี่ยวชาญ​เศรษฐกิจ​มหภาค​ กล่าวถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทว่า 1.การที่ค่าเงินบาทแข็ง​มากเกินไป​ (แข็งกว่าอินเดีย​ 2.58 เท่า​ แข็งกว่าเวียดนาม​1.6 เท่า​ และแข็งกว่าทุกประเทศในโลก​ 25-60% ในช่วง​ 20​ ปีที่ผ่านมา)​ อันเนื่องมาจากนโยบาย​ของแบงก์ชาติ​ ทำให้เศรษฐกิจ​ไทยไม่เจริญเติบโตแล้ว ยังมีผลให้ราคาสินค้าเกษตร​ที่ผลิตและขายในประเทศตกต่ำลงด้วย

2.ทั้งนี้​เพราะราคาสินค้าเกษตร​นำเข้า​ เช่น​ ข้าวโพด, ข้าวฟ่าง, ข้าวสาลี​ พืชผักผลไม้ ในรูปเงินบาทมีราคาถูกลง อันเนื่องมาจาก​เราใช้เงินบาทน้อยลงไปแลกเงินดอลล่า​ร์​ เพื่อซื้อสินค้านำเข้าเหล่านี้

3.ราคาสินค้าเกษตร​นำเข้าที่ถูกลง​ จึงไปกดราคาสินค้าเกษตร​ที่เราผลิตในประเทศให้ต่ำลงไป ทำให้เกษตรกรกว่า​ 8.8 ล้านครัวเรือน​ ​มีรายได้ลดลง​และยากจนเพิ่มขึ้น​

4.รัฐบาลมักแก้ไขปัญหา​ราคาสินค้า​เกษตร​ตกต่ำ​ ด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้ เป็นช่วงๆ​ เช่น ช่วงที่มีการเก็บเกี่ยว​ และใช้เงินงบประมาณมาชดเชยราคา​สินค้าเกือบทุกชนิดทุกๆ​ ปี

5.ความจริง​ แค่เราปรับค่าเงินบาทให้อ่อนลงหน่อย​ จะสามารถแก้ไขราคาสินค้าเกษตร​ในประเทศ​ให้ดีขึ้นได้ทุกชนิด​ โดยแทบไม่ต้องใช้เงินภาษีมาอุดหนุน​เลย

6.ปัจจุบัน​แบงก์ชาติ​ปล่อยให้เงินบาทแข็ง​มากเกินพื้นฐาน​ สวนทางกับเศรษฐกิจ​ไทยที่ไม่เจริญเติบโต​ ด้วยมาตรการที่แบงก์ชาติ​สร้างขึ้น​มาเอง คือ (1​)​ทำให้ดอกเบี้ย​ไทยที่แท้จริงสูงเกินไป​ ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจ​จึงมีน้อยเกินไป​ และ (2​)​ แบงก์ชาติ​ยังปล่อยให้ต่างชาติ​ นำเงินตราต่างประเทศ​เข้ามาเก็งกำไรในตลาดทุน​ ทำให้เงินบาทแข็ง​ค่าขึ้น​ เพราะแบงก์ชาติ​ไม่เพิ่มปริมาณเงินบาทตามจำนวน​เงินตราต่างประเทศที่เข้ามา​ โดยเกรงกลัวเงินเฟ้อ​ ทั้งๆ​ ที่เศรษฐกิจ​ไทยอยู่ใน​ภาวะเงินฝืด

7.จึงเกิดเหตุ​การณ์​ที่ว่า​เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาแล้ว​ เงินบาทก็แข็งค่า​ขึ้น​ ไปทำให้สินเกษตรที่ผลิตและขาย​ในประเทศมีราคาตกต่ำลง​ คนส่วนใหญ่ยากจนลง​ และ​อัตราการเพิ่มของ​ GDP ตกลง

8.กระทรวงการคลังต้องรีบแก้ไข หากปล่อยไปอย่างนี้​ เราจะไม่สามารถฟื้นเศรษฐ​กิจ​ได้​ และยังต้องเอาเงินภาษีไปชดเชยราคาสินค้าที่ตกต่ำมากมาย​ รัฐบาล​จะฟื้นเศรษฐ​กิจ​ได้ยาก​ขึ้นเรื่อยๆ​