นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเลผลงาน45.097% จากแผน 48.95% ล่าช้า 3.86% เนื่องจากงานทางทะเลนอกชายฝั่งซึ่งประกอบด้วย ก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเลชนิดแกนทรายเป็นส่วนใหญ่ในช่วงมรสุม(เดือน เม.ย. – พ.ย.) มีคลื่นลมแรงเป็นปัญหาอุปสรรคก่อสร้าง

ได้กำชับ กทท. ประสานผู้ควบคุมงาน และกิจการร่วมค้า CNNC ในฐานะผู้รับจ้างให้เร่งรัดรวมถึงวางแผนแก้ไขปัญหาโดยให้ผู้รับจ้างเพิ่มเวลาทำงานมากขึ้น พร้อมเร่งงานช่วงคลื่นลมสงบ และปรับขั้นตอนการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเพิ่มเครื่องจักรทางทะเลต้องเร่งให้ได้เนื้องานเพิ่มขึ้นเดือนละ 3.00 – 3.50 % พร้อมส่งมอบงานก่อสร้างส่วนที่ 1 ได้ภายในเดือน มิ.ย.69

ในส่วนของงานถมทะเลพื้นที่3 ท่าเทียบเรือ F1 ถมทะเลเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบมาตรฐานความแน่นหนาของงานถมทะเล จากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ F1 ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ตามสัญญาสัมปทานบริหารโครงการฯ ที่ต้องส่งมอบ GPC ช่วงปลายเดือน พ.ย.68 และเปิดบริการท่าเรือ F1 ภายในปลายปี 70

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า  สำหรับงานส่วนที่ 2 ก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งได้ลงนามกับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 บริษัทฯ กำลังเตรียมงานก่อนก่อสร้าง อาทิ การขออนุญาตส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบหมุดหลักฐานอ้างอิง (Bench mark) และการเจาะสำรวจทางธรณีวิทยา (Soil Investigation) เป็นต้น  

ขณะที่งานส่วนที่ 3 ก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 68  ทั้งนี้ ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือต้องเปลี่ยนสภาพของทะเล หรือการถมทะเลให้เป็นพื้นที่ท่าเทียบเรือของโครงการฯทั้งสิ้น 5,194,593 ตารางเมตร(ตร.ม.) หรือ 3,246 ไร่ โดยถมทะเลพื้นที่ F 1 ทั้งหมด 312.5 ไร่  แล้วเสร็จ

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก  หากแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า จาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง  เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค