สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่าองค์กรอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกแถลงการณ์ แสดงยินดีกับอียิปต์ ในการเป็นประเทศล่าสุด ซึ่งปลอดจากโรคมาลาเรีย โดยยกย่องว่าเป็น “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์” หลังใช้ความพยายามนับศตวรรษของอียิปต์ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าว ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ


นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า โรคมาลาเรียซึ่งเคยรุมเร้าอียิปต์อย่างหนักนั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานเทียบเท่ากับอารยธรรมอียิปต์ แต่ขณะนี้กลายเป็นเพียงอดีต “การรับรองว่าอียิปต์ปลอดจากโรคมาลาเรีย ถือเป็นประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง และเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของประชาชนและรัฐบาล”

ดับเบิลยูเอชโอ จะรับรองการปลอดโรคมาลาเรีย เมื่อประเทศแห่งนั้นสามารถพิสูจน์ ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถขัดขวางห่วงโซ่การแพร่เชื้อจากยุงก้นปล่องอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน รวมถึงการแสดงให้เห็นถึง ศักยภาพเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

“การได้รับใบรับรองการกำจัดโรคมาลาเรีย ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเดินทาง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่” นายคาลิด อับเดล กัฟฟาร์ รมว.สาธารณสุขอียิปต์ กล่าว และย้ำว่า พวกเขาจะทำงานหนักเพื่อรักษาความสำเร็จครั้งนี้ไว้ รวมถึงการรักษามาตรฐานในการเฝ้าระวัง, วินิจฉัย และรักษา

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2463 ความพยายามขั้นแรกของอียิปต์ ในการป้องกันโรคมาลาเรีย เริ่มจากการห้ามปลูกข้าว และพืชผลทางการเกษตรใกล้บ้านเรือน เพื่อลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์และยุง อย่างไรก็ตาม ในปี 2485 ยอดผู้ป่วยโรคมาลาเรียในประเทศกลับพุ่งขึ้นแตะ 3 ล้านคน จากการอพยพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาในปี 2503 การก่อสร้างเขื่อนอัสวานบริเวณแม่น้ำไนล์ กลับกลายเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงนานาชนิด

จนกระทั่งในปี 2544 ดับเบิลยูเอชโอประกาศว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในอียิปต์ “อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES