โลกการค้าที่ไร้พรมแดนใน “ยุคดิจิทัล” ทำให้สามารถทำการซื้อค้า ผ่านโลกออนไลน์ ได้อย่างง่ายๆ ผ่านแพลตฟอร์ม ที่ถูกพัฒนาขึ้นทั้งใน โซเซียลมีเดีย อีมาร์เก็ตเพรส ฯลฯ สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ทำให้การค้าขายผ่านออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ เติบโตมากขึ้นในทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ถือว่ามีตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ เป็นอันดับต้นๆในภูมิภาคอาเซียน

Meta ยักษ์ไอทีระดับโลกที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานจำรวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค และอินสตาแกรม ได้จัดงาน “Meta Commerce Day Thailand 2024” ซึ่งมีมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาด อีคอมเมิร์นำเสนอ

โดยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ  “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  ได้แบ่งบันข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดออนไลน์ ในมุมมองของภาครัฐ แนวโน้มการเติบโต เทรนด์การค้าออนไลน์ของประเทศไทย ว่า  จากการสำรวจข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า  มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 67 นี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีที่ผ่านมา

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

โดยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา  พบว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ e-Commerce ที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 7,393 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 43,704  ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก จำนวน 7,279 ราย ขนาดกลาง จำนวน 86 ราย และขนาดใหญ่ จำนวน 28 ราย  โดยผลประกอบการของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมีรายได้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท

“ผู้ประกอบธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ มีความสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตได้ดี ในขณะที่มีการแข่งขันทางธุรกิจที่สูง ประกอบกับมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จจนส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของ อีคอมเมิร์ซ มีอัตราที่สูง รวมถึงกาที่พฤติกรรมในการซื้อสินค้าของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกือบ 90% ของคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อสื่อสารและซื้อของออนไลน์ ตอบสนองความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า และมีการตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน”

ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ สร้างโอกาส ทางการตลาด  และร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำต่างๆ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้างแต้มต่อในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการร่วมกับ เมตา  จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Upgrade ธุรกิจด้วย AI สู่การตลาดยุคใหม่กับ Meta” เป็นการเสริมสร้างทักษะให้แก่ผู้ประกอบการ อีคอมเมิร์ซในการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยจากหน่วยงานรัฐแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับผู้ประกอบการไทย ก็คือ การสร้างแบรนด์ ซึ่งได้มีคำแนะนำจาก “ซีเค เจิง” ซีอีโอ ของ Fastwork ที่บอกว่า การสร้างแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่การใช้สื่อ ทีวี วิทยุ มีราคาแพง แต่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย ที่สามารถใช้ในการทำตลาด สร้างแบรนด์ได้ง่าย ต้นทุนถูกลง ผู้ประกอบการรายเล็ก ก็สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้

“ การสร้างแบรนด์ กับการทำมาร์เกตติ้ง ไม่เหมือนกัน การทำ มาร์เกตติ้ง ทำได้ง่ายเพียงมีเงินใครๆ ก็ทำได้ แต่ ก็ถูกก็อปปี้ได้ง่าย แต่การทำแบรนด์ สร้างแบรนด์ ให้ประสบความสำเร็จทำได้ไม่ง่ายและก็อปปี้ไม่ได้ การมีเงินซื้อแอดไม่ยั่งยืน  การยิงแอดคนอาจไม่จดจำ เสมือนโปรยเงินลงทะเล  แต่การสร้างคอนเทนต์ แบบ  Orgaic ทำให้ยั่งยืนกว่า และทำได้ฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงิน โดยสิ่งที่แพลตฟอร์มใหญ่ต้องการ คือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจบนแพลตฟอร์มและช่วยดึงคนเข้ามาใช้งาน สิ่งสำคัญที่สุด คือ คอนเทนต์ไหน ที่คนเชฟ และแชร์ มากที่สุด คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดจะช่วยให้มี Orgaic เอง”

“ซีเค เจิง” ยังแนะนำว่า ผู้ประกอบการว่า การสร้างคอนเทนต์จำนวนมากๆ ถือว่าสำคัญ เพราะจะช่วยให้คนมองเห็นมากขึ้น ซึ่งหน้าฟีด ที่นำเสนอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน AI พยายามเรียนรู้ พยายามนำเสนอสิ่งที่เราชอบ นอกจากนี้สิ่งที่ยังไม่มีคนทำหรือยังมีน้อยอยู่ คือ การคอลแลปส์ คอนเทนต์ กับ ครีเอเตอร์ รายอื่นๆ เพื่อขยายฐานแฟนๆ ให้กว้างมากขึ้น เพราะแต่ละครีเอเตอร์ ก็มีฐานแฟนๆของตนเองอยู่  เพื่อให้มีคนเห็นมากขึ้น

ภาพ pixabay.com

สำหรับเรื่องการเข้ามาของแลตฟอร์มต่างชาติ แล้วขายของราคาถูกนั้น อย่างไปกลัว เพราะมนุษย์ไม่ได้ต้องการซื้อของถูกทั้งหมด เพราะมนุษย์มีความลำเอียง อยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์นั้น แบรนด์นี้  จึงไม่ต้องกลัวสินค้าจากจีน นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์ คือ  ความจริงใจ ที่จะช่วยทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นในที่สุด

ขณะเดียวกัน สินค้าประเภทไหนมีอนาคต เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันนั้น ทาง  “ปรัชญา ไพโรจน์กุลมณี”  ผู้อำนวยการกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บอกว่า ธุรกิจ เอสเอ็มอีไทย มีความยืดหยุ่น อะไรที่มาใหม่ สามารถปรับตัว เรียนรู้ได้หมด ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคจดจำ เป็นสิ่งจำเป็น โดยธุรกิจหรือสินค้าที่น่าจับตามอง คือ ธุรกิจเกี่ยวกับ อาหาร   สัตว์เลี้ยง มูเตลู สมุนไพร และ ซีรีย์วาย ที่คนยอมจ่าย  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับซอฟท์พาวเวอร์

“สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการ คือ เรื่องข้อมูล ถ้ามีการเก็บข้อมูลของตนเอง โดยไม่ต้องขอจากแพลตฟอร์ม จะช่วยให้สามารถนำมาวิเคราะห์ในการทำธุรกิจได้เลย และสิ่งสำคัญที่ต่างประเทศให้ความสำคัญ คือ เว็บไซต์ ที่มีการให้ข้อมูลต่างๆ ยุคปัจจุบันการสร้างเว็บไซต์ ยังไม่ใช่สิ่งที่เฉย แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจได้ด้วย

ภาพ pixabay.com

สำหรับสิ่งที่กำลังมาแรงของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ  นั้นทาง “อาจารี แชรงค์” หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรด้านข้อความเชิงธุรกิจ เมตา  บอกว่า  ปัจุบัน ไลฟ์ ชอปปิง เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งผลสำรวจในปีที่ผ่านมาพบว่า  คนเข้าไปพบสินค้าบนโซเซียลมีเดีย กว่า 70% และส่วนใหญ่เจอบนแพลตฟอร์มของเมตา  และ 70% ของคนดูไลฟ์ ชอปปิง จะซื้อสินค้า และส่วนใหญ่จะกลับมาซื้อซ้ำใน 1 เดือน และ กว่า 90% จะมีการซื้อที่มีมูลค่าสูงกว่าเดิม

ถือเป็นข้อมูลจากงานของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ อย่าง” เมตา” ที่มียอดผู้ใช้งานกว่า  กว่า 3.27 พันล้านคนทั่วโลกในทุกวัน แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังมีโอกาสเติบโต และการไลฟ์ ขายสินค้า  เป็นเทรนด์ที่มาแรงและช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆให้ธุรกิจและช่วยให้ฐานลูกค้ามีการเติบโตมากขึ้น!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์