เมื่อวันที่ 19 ต.ค.67  นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ซึ่งมอบหมายให้น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นผู้ชี้แจง ถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาทั้งระบบ  ว่า จากสถิติอัตราการเข้าไม่ถึง น้ำประปาในเขตเมือง อยู่ที่  ร้อยละ 3.3 ขณะที่เขตชนบทอยู่ที่  ร้อยละ 12.8 ซึ่งถือว่าสูงกว่า 4 เท่า แต่ข้อเท็จจริง ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา อย่างจ.ชัยภูมิ ยังมีพื้นที่เกินครึ่ง ที่ไม่ได้รับการจัดสรร สาเหตุอาจจะมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรืองบประมาณที่ไม่เพียงพอ ซึ่งตนทราบว่า ปี 2567 การประปา ได้รับการจัดสรรงบลงทุน ตามรายงานประจำปี  1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ความต้องการขยายเขตน้ำประปาทั้งระบบ มีเป็นแสนล้านบาท ดจึงอยากทราบว่า กรณีที่ตกเป็นข่าว ว่าจะมีการดำเนินการลงทุนการประปาทุกอำเภอ ของประเทศไทย มีแนวคิดอย่างไร และใช้แหล่งเงินทุนใดมาลงทุน รวมถึงกระบวนการสำรวจออกแบบ ว่าได้สั่งการให้การประปาในแต่ละพื้นที่ เร่งออกแบบโครงการไว้แล้วหรือไม่ 

โดยน.ส. ซาบีดา ตอบว่าปัจจุบัน มีผู้ให้บริการน้ำประปา ทั้งหมด 878 อำเภอ เป็นส่วนภูมิภาค 625 อำเภอ นครหลวง 12 อำเภอ และ 50 เขตกรุงเทพมหานคร รวมถึง ส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 241 อำเภอ ซึ่งการลงทุนภาพรวมทั่วประเทศ ทุกหน่วยงานสามารถใช้เงินของหน่วยงานตัวเองในแต่ละพื้นที่ เมื่อได้รับการประสานงานจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่นการที่ประปาจะเข้าไปขยายเขต จะต้องดูเจตจำนงของ อปท.ด้วย เพื่อเข้าไปสำรวจออกแบบ หากมี ก็ทำแผนศึกษาโครงการ เพื่อนำเข้าสู่แผนประจำปีปฏิทินงบประมาณ และขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 

รมช. มหาดไทย กล่าวว่า ส่วนแผนที่จะมีในทุกอำเภอ ตอบตามตรงว่า ตนเติบโตมากับท้องถิ่นต่างจังหวัด เข้าใจสภาพปัญหาดี ถึงความขาดแคลนน้ำประปาเป็นอย่างไร แต่ปัญหาที่ตนเคยเจอ บางพื้นที่ เมื่อ อปท. ยื่นเจตจำนงไปยังการประปาส่วนภูมิภาค  1.ต้องทำประชาพิจารณ์ 2.ต้องผ่านสภาท้องถิ่น ว่าจะสามารถอนุมัติได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่า บ่อยครั้งที่ ไม่ผ่าน 2 ขั้นตอนนี้ ทำให้การประปาส่วนภูมิภาค ไม่สามารถเข้าไปขยายเขตในพื้นที่นั้นได้ ทั้งนี้ เรามีแผนตั้งใจไว้จะขยายระบบประปา ให้ครอบคลุมทั้งหมด 878 อำเภอ ซึ่งได้มีการพูดคุยและตกลงกันแล้ว ว่าจะขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ 2569 เพิ่มเส้นเลือดฝอย ใน 443 อำเภอเดิมที่ขยายเขตประปาอยู่แล้ว วงเงิน  1.9 หมื่นล้านบาท โดยมีอำเภอใหม่ 7 อำเภอ 4 ร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ MOU ระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค กับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความร่วมมือ 4 ข้อ  คือ 1. ให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ประปาหมู่บ้าน หรือประปาท้องถิ่น 2. ขยายเขตน้ำประปาให้ครอบคลุมมากขึ้นทั้ง กปภ. และอปท. 3 ให้ อปท. รับน้ำ กปภ. ไปบริการหรือจำหน่าย 4 โอนกิจการประปาจาก อปท. ให้ กปภ. 

จากนั้น นายอัครแสนคีรี ได้ถามถึง การลงทุนสร้างแหล่งผลิตน้ำประปา และการขยายเขตประปา ต้องใช้งบลงทุนเรื่องใดบ้าง คิดเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเป็นเงินเท่าใด  

น.ส.ซาบีดา ตอบว่า ต้องใช้งบก่อสร้างระบบประปา เช่นการสูบน้ำดิบผลิตน้ำ ระบบจ่ายน้ำ ซึ่งค่าก่อสร้างวางระบบ จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพแหล่งน้ำดิบในพื้นที่ สภาพพื้นที่ก่อสร้าง ระยะทางระหว่างสถานีการกระจายตัวของผู้ใช้น้ำ และรูปแบบวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสม รวมถึงการวางท่อ โดยพื้นที่ราบกับพื้นที่สูง การประเมินงบประมาณจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ดังนั้นการประมาณการลงทุนก่อสร้างจึงจะต้องสำรวจออกแบบพื้นที่ก่อสร้างก่อน จึงจะสามารถบอกได้ว่าใช้วงเงินงบประมาณที่เท่าไร แต่ปกติถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรร ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กันหรือมีภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ก็จะลงทุนเฉลี่ยต่อ 20,000 บาท ต่อราย  หากเป็นพื้นที่สภาพภูมิประเทศ ไม่เอื้ออำนวย ก็จะมีวงเงินที่ค่อนข้างสูงกว่า

ก่อนที่ นายอัครแสนคีรี ได้เสนอให้การประปาส่วนภูมิภาคจัดหาเงินกู้เพื่อมาลงทุนในการขยายเขตประปาเนื่องจากการประปาเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำประปา ของจ.ชัยภูมิ โดยเฉพาะ 7 ตำบล ในอำเภอแก้งคร้อ  และ 5 ตำบล ในอำเภอคอนสวรรค์  ที่ยังไม่มีท่อไหล และระบบส่งน้ำของการประปา  จึงอยากฝาก รมช.มหาดไทย ให้การพิจารณา เพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และได้ยื่นปัญหาความเดือดร้อนของชาวชัยภูมิต่อ รมช.มหาดไทย ด้วย.