เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่สถิติการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ 133 แห่ง และวนอุทยานแห่งชาติ 9 แห่ง  ประจำปีงบประมาณ 2567  (ต.ค.66-ก.ย.67)  โดยมีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ จำนวน 2,200,622,044 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่จัดเก็บรายได้จำนวน 1,467,824,272 บาท  เป็นจำนวน  732,979,772 บาท

โดยอุทยานฯ ที่จัดเก็บเงินรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ 1.อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ จำนวน 629,893,547 บาท 2.อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 243,654,970 บาท  3. อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง  164,887,500 บาท 4. อุทยานฯ อ่าวพังงา จำนวน 149,224,510.00  5. อุทยานฯ เขาใหญ่ จำนวน129,563,541บาท  6.อุทยานฯ อินทนนท์ จ.เชียงใหม่ 125,332,508 บาท 7.อุทยานฯ เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 83,640,966 บาท  8.อุทยานฯ เอราวัณ จ.กาญจบุรี  81,453,875 บาท 9.อุทยานฯ หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 53,614,430 บาท 10.อุทยานฯ ตะรุเตา จ.สตูล จำนวน 37,325,610 บาท

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานฯ ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน  18,629,416 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 12,679,941 คน ชาวต่างชาติ 5,931,475 คน เพิ่มจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีนักท่องเที่ยวรวม 15,816,008 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 12,047,916 คน ชาวต่างชาติ 3,768,092 คน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2,813,408  คน

สำหรับอุทยานฯ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุทยานฯ เขาใหญ่ จำนวน 1,486,571 คน 2.อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 1,153,515 คน   3. อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จำนวน 991,102 คน  4.อุทยานฯ อินทนนท์ จำนวน 758,131 คน 5.อุทยานฯ คิชฌกูฏ  จำนวน 734,776 คน 6.อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จำนวน  578,535 คน  7.อุทยานฯอ่าวพังงา 530,204 คน 8.อุทยานฯ เอราวัณ จำนวน 519,235  คน 9.อุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว จำนวน 434,110 คน 10.อุทยานฯ 10.เขาสก จำนวน  424,376 คน

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ  กล่าวว่า  ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่หลายพื้นที่นักท่องเที่ยวก็ยังน้อยอยู่โดยเฉพาะอุทยานฯ ทางทะเลต่างๆ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูที่ยังมีฝนตกอยู่ แต่ก็ถือว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากในห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  ทั้งนี้ในต้นเดือน พ.ย. จะมีการเปิดเทศกาลท่องเที่ยวอุทยานฯ ทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย  โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และจะมีการโชว์โครงการที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้าที่จะเตรียมเปิดการท่องเที่ยวเกาะตาชัย อุทยานฯ สิมิลัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเราจะปรับปรุงพื้นที่ และทำรูปแบบการท่องเที่ยวในลักษณะที่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่เกาะตาชัยอย่างไรบ้างที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปแล้วเกิดความประทับใจ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะทำท่าเทียบเรือในลักษณะเป็นท่าเทียบเรือที่ลอยน้ำได้ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่แปลกปลอม และมีโซนเล็กๆ บนเกาะตาชัยที่ให้เล่นน้ำได้ เป็นต้น ยืนยันว่าอีก 1 ปี จะได้เห็นการเปิดการท่องเที่ยวเกาะตาชัยแน่นอน

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามภาพรวมท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทั่วประเทศ ขณะนี้ก็เริ่มมีการจองที่พักเข้ามาจำนวนมาก และหลายอุทยานฯ ยอดจองบ้านพักเริ่มแน่นขึ้นเรื่อยๆ  เช่น เขาใหญ่ อินทนนท์ ดอยสุเทพ  คาดว่าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่พักจะเต็มยาวไปถึงเทศกาลปีใหม่  แต่ประชาชนสามารถมีทางเลือกในการเข้าพักในบ้านพัก โฮมสเตย์ หรือรีสอร์ทในชุมชนใกล้เคียงอุทยานฯ แต่ละแห่งเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้  อย่างไรก็ตามในเรื่องบ้านพักในอุทยานฯ อาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนข้างนอก จึงเป็นสิ่งที่เราจะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น และต้องหาแนวทางต่อไปโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ตอนนี้เราพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล คือเราพยายามจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ เช่น สวนรุกขชาติ สวนพฤษศาสตร์ ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ หรือแม้แต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในบางพื้นที่ รวมทั้งจะมีการเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ๆ โดยตนเตรียมไปเดินเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่เรียกว่าเป็นเส้นทางอันซีนเลย คือเส้นทางสันพญานาค ที่อุทยานฯภูแลนคา จ.ชัยภูมิ   เป็นการเดินตามสันพญานาค ภูแลนคา คือ เดินจากหัวไปหาง หรือเดินหางไปหัวพญานาค ผ่านวิวทิวทัศน์ที่สวนงามของอุทยาน ฯภูแลนคา ใช้เวลาในการเดิน 6-7 ชั่วโมง  เรียกว่าเป็นเทรนด์ใหม่สายมูกิจกรรมการท่องเที่ยวในอุทยานฯ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังให้มูได้ในขอบเขต ไม่ให้กระทบกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่อุทยานฯด้วย

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในปีงบ 68 กรมอุทยานฯ คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดเก็บเงินรายได้ ประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และซ่อมแซมสิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีการเปิดจองที่พักและบริการผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมอุทยานฯ ล่วงหน้า 60 วัน และจองค่าเข้าอุทยานฯ ล่วงหน้าผ่านระบบอี-ทิกเก็ต ในอุทยานฯ 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานฯ เขาใหญ่ เอราวัณ อินทนนท์ อ่าวพังงา สิมิลัน และหาดนพรัตน์ธาราฯ ทั้งนี้ระบบการจำหน่ายตั๋วอี-ทิกเกตอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และจะผลักดันไปเรื่อยๆ เราจะทำให้แล้วเสร็จภายในปี 68 จำนวน 80 อุทยานฯ และครบทุกอุทยานฯ ในปี 69 .