เพราะความสำเร็จจากโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานยามคํ่าคืน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (AYUTTHAYA SUNDOWN 2023- 2024) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปี 2567 จึงเป็นที่มาของกิจกรรมพิเศษ งาน 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ ที่จัดขึ้น ณ วัดไชยวัฒนาราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพระราม และพระราชวังจันทรเกษม

Chaiwatthanaram Temple is located in Ayutthaya Historical Park, Phra Nakhon Si Ayutthaya

วัดไชยวัฒนาราม วัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก นอกเกาะเมือง พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2173 โดยโปรดให้สร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด ปรางค์ประธานตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และที่มุมฐานมีปรางค์ประจําทิศอยู่ทั้งสี่มุม มีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าวัด ภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยหินทราย ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิราช

ใบเสมาของพระอุโบสถทําด้วยหินสีออกเขียว จําหลักเป็นลายประจํายามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และกรมศิลปากรได้ดําเนินการบูรณะตลอดมา จึงยังคงความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตาเสมือนในอดีต

วัดราชบูรณะ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้าพระยา ซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย และโปรดให้ก่อเจดีย์ 2 องค์ในบริเวณนั้น เมื่อคราวเสียกรุงวัดราชบูรณะถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่าง ๆ ของวัดใหญ่โตมาก วิหารหลวง มีขนาดยาว 63 เมตร กว้าง 20 เมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้น 3 ทาง ผนังวิหาร เจาะเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชี พระประธานเหลืออยู่

พระปรางค์ประธานเป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรก นิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้น รูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค มีลวดลายงดงาม ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ 2 ชั้น สามารถลงไปชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนราง ชั้นล่างซึ่งเคยเป็นที่เก็บเครื่องทองมีภาพจิตรกรรม เขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้

วัดมหาธาตุ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัด เมื่อปี พ.ศ. 1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีส่วนเสริมใหม่ ตอนบนก่ออิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม ต่อมายอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น มีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่ และก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก เมื่อปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้นที่สําคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งเป็น ชิน เงิน นาค ไม้ดํา ไม้จันทน์แดง แก้วโกเมน และทองคํา ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า

ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุได้รับการนําไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่าง คือเศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุม มีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ

วัดพระราม สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้ คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงแหลมขึ้นไปด้านบน
ทางด้านทิศตะวันออกมีพระปรางค์องค์ขนาดกลาง ส่วนทางตะวันตกทําเป็นซุ้มประตู มีบันไดสูงจากฐานขึ้นไปทั้งสองข้าง ที่มุมปรางค์ประกอบด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ และยังมีปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ใต้ฐานของปรางค์เล็กมีเจดีย์ล้อมรอบอีกสี่ด้าน

กําแพงวัดพระราม ด้านเหนือมีแนวเหลื่อมกันอยู่ที่กําแพงด้านตะวันออก ตะวันตก และด้านใต้ มีซุ้มประตูค่อนไปทางทิศตะวันตก ได้ระดับกับมุมระเบียงด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ ส่วนแนวเหลื่อมนั้นได้ระดับกับมุมระเบียงตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ ไม่มีซุ้มประตู คล้ายสร้างไว้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

ส่วน พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า วันนี้คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทยโบราณแห่งหนึ่งประจำจังหวัด แต่เดิมเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูง ปรากฏหลักฐานพงศาวดารว่าสร้างขึ้นด้วยไม้จันทน์หอมทั้งหลังในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเมื่อ พ.ศ. 2120 เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อเสด็จลงมายังอยุธยาเป็นครั้งคราว เนื่องเพราะในเวลานั้นยังทรงครองเมืองพิษณุโลก และที่ประทับแห่งนี้ยังได้ในงานสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาเพื่อตั้งรับการศึกพระเจ้าหงสาวดีก็ประทับอยู่ที่นี่ พร้อมด้วยเหล่าขุนนางที่ตามเสด็จลงมาด้วย จึงเรียกวังนี้ว่า วังจันทน์ดังเช่นชื่อวังที่ประทับ ณ เมือง วังแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระยุพราชอีกหลายพระองค์

พิพิธภัณฑ์ภายในพระราชวังเก่าแก่แห่งนี้อยู่ภายในโอบล้อมกำแพงอิฐประดับใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน ส่วนพลับพลาจัตุรมุข เป็นอาคารจัตุรมุข 2 หลังเชื่อมต่อกัน ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการด้านหน้าส่วนด้านหลังใช้เป็นที่ประทับยามเสด็จประพาสอยุธยา กลางท้องพระโรงจึงทอดพระราชอาสน์ของรัชกาลที่ 4 ไว้ตรงกลางประดับด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตรเก้าชั้นบนเพดานด้านนอกมีพระที่นั่งพิมานรัตยา หมู่ตึก 4 หลังซึ่งเป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2442 เป็นต้นมา ปัจจุบันจัดแสดงประติมากรรมสลักจากศิลา อาทิ เทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยลพบุรี รวมถึงพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์และเครื่องไม้แกะสลัก

งาน 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ และ Night at The Palace ย้อนเวลาชมวัง 4 ศตวรรษ พระราชวังจันทรเกษม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 พฤศจิกายน 2567 โดยมีกิจกรรมพิเศษมากมายได้แก่ “ชาววัง พาชม” นำชมพระราชวังจันทรเกษมรอบพิเศษ ทุกวันเสาร์ เวลา 18.30 น. “ชาววัง ชวนขึ้นหอ” ชมทิวทัศน์อยุธยา บนหอสังเกตการณ์ยุคแรกของสยาม พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง เป็นหอสูงสี่ชั้นสร้างทับฐานเดิมสมัยพระนารายณ์ ใช้เป็นที่ประทับเพื่อทรงส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาว

“สายมู ยูต้องมา” สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัง และ “ย้อนเวลาชมวัง” เชิญชวนแต่งชุดไทยเข้าชมพระราชวัง สำหรับพระราชวังจันทรเกษมเปิดให้เข้าชม (เฉพาะภายนอกอาคาร) ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 16.30-21.00 น. ดูเพิ่มเติมทาง Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม : Chantharakasem National Museum หรือ ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3524-6076 หรือ Facebook ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา : TAT Ayutthaya Office

อธิชา ชื่นใจ