ถูกตั้งคำถามหลังจากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเปิดโอกาสให้ สส. ทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งมีเพียงตัวแทนจากพรรคประชาชน (ปชน.) เท่านั้น ที่สนับสนุนให้มีการนิรโทษในการกระทำความผิดในกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ต่างอภิปรายคัดค้านาน กมธ.

หลังทั้งสองฝ่ายอภิปรายกันพอสมควร ทาง สส.ฝ่ายรัฐบาล เห็นว่าควรจะลงมติได้แล้ว แต่ฝ่ายค้านกลับเห็นว่า สมาชิกยังมีความเห็นต่างอยู่มาก จึงควรให้ กมธ. ได้ชี้แจงเนื้อหาในรายงานเพิ่มเติมด้วย

แต่ “นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 กับสั่งปิดประชุม แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่ นายพิเชษฐ์ ไม่สนใจ คำถามคือทำไม นายพิเชษฐ์ จึงชิงปิดสมัยการประชุม เกรงเรื่องมีปัญหาองค์ประชุม หรือเสียงของของรัฐบาลอาจไม่เป็นเอกภาพ เพราะแม้สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) จะอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่เวลาออกเสียง อาจเห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว เพราะใครก็รู้ว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล และพรรคพท. มีคดี 112 ติดตัว หรือจะรอให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะนัดเจอกันในวันที่ 21 ต.ค. จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือ ก่อนจะมีท่าทีจะให้ความเห็นชอบผลการศึกษาดังกล่าวไว้หรือไม่

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกมธ.ฯ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงการดำเนินการ หลังสภาฯ สั่งปิดการประชุมทั้งที่ยังพิจารณาผลการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษฯ ไม่แล้วเสร็จ ว่า ยังมี สส. หลายคนเข้าใจผิดอยู่หลายประเด็น ซึ่งจะไม่เข้าใจจริงๆ หรือแกล้งไม่เข้าใจ เช่น เข้าใจว่ายกเลิกมาตรา 112 ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม เหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำมาแล้วหลายครั้ง และมีการอภิปรายเลยไปว่าจะมีการก้าวล่วง ขอยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีใครไปก้าวล่วง และไม่คิดแบบนั้นเลย ไม่มั่นใจว่าการกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาล วันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่ “นายกฯ อิ๊งค์” เป็นประธานจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะตัดสินใจว่าจะคุยกันหรือไม่

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า มี สส.อภิปรายว่าไม่ให้นิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ชั้นร่างกฎหมาย ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ชั้นดังกล่าว เป็นเพียงแค่รายงานการศึกษา เมื่อถามว่า สรุปแล้วเรื่องที่ยังค้างอยู่ในสภาจะดำเนินอย่างไรต่อไป หรือจะถอนผลการศึกษาออกมา นายชูศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่ถอนร่างผลการศึกษาและคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้สภารับทราบว่ามีรายงาน ซึ่งรับทราบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย และเมื่อรับทราบแล้วก็ต้องมีข้อสังเกต ให้ส่งหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ หรือส่งให้ เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการก็ต้องลงมติ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ควรส่งให้ ครม. ดำเนินการต่อ ก็ไม่ต้องลงมติ อยากให้การประชุมสัปดาห์หน้าดำเนินการต่อ เพื่อจบกระบวนการ แต่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าจะประชุมต่อได้วันไหน แต่ยืนยันต้องพิจารณาให้จบ เพราะเรื่องมันค้างอยู่

เมื่อถามว่า หากสภาลงมติไม่ควรให้ส่งหน่วยงานดำเนินการต่อ ถือเป็นการปิดประตูออกกฎหมายนิรโทษกรรมเลยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็จะเป็นรายงานที่ค้างอยู่ในสภา ใครจะหยิบไปศึกษาหรือไปดูก็เป็นสิทธิของพรรคต่างๆ

ถ้า “นายชูศักดิ์” ต้องการเดินหน้าต่อ นั่นหมายความว่า ต้องวัดใจพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องการให้ถอนร่างดังกล่าวออกจากวาระการประชุม และ สส.พรรคร่วมรัฐบาล บางคนเห็นว่า การผ่านรายงานดังกล่าว อาจเป็นสารตั้งต้นในการผลักดันให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยรวมมาตรา 112 ไว้ด้วย แม้ “นายชูศักดิ์” ยืนยันว่า จะไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ก็ตาม

ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ กล่าวถึงกรณีสั่งปิดประชุมสภาฯ ระหว่างจะลงมติรับหรือไม่รับรายงานของคณะกมธ.ฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า มีพรรคการเมือง 2-3 พรรคที่ประกาศตัวว่าไม่เห็นด้วย ขณะที่อีกฝ่ายคือพรรคประชาชน (ปชน.) อยากจะให้ลงมติ ซึ่ง กมธ. ก็อยากชี้แจงเพื่อให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยอมรับ แต่ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้ว คือฝ่ายที่ไม่ยอมรับก็คือไม่ยอมรับ คนที่อยากให้ผ่าน ต่อให้จะชี้แจงอีกกี่ชั่วโมง ก็เหมือนเดิม กมธ. ชี้แจงมาเต็มที่ จะชี้แจง 2-3 รอบทำไม ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องต้องใช้วิจารณญาณว่าจะปล่อยให้เกิดความซ้ำซากเช่นนี้ได้อย่างไร

“ในฐานะประธานต้องควบคุม และถามว่าตกลงคุณจะโหวตหรือไม่ ทุกอย่างชัดเจนหมดแล้ว คุณจะพูดอะไรอีก ฉะนั้นคิดว่าตัดสินใจถูกต้องแล้ว สัปดาห์หน้าเปิดมาก็มาว่ากัน ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เปิดมาก็โหวตเลย ซึ่งหากรายงานนี้ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีความขัดแย้ง เราก็ต้องโหวตว่าสรุปแล้วจะส่งรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ไม่มีบอกว่าเป็นพรรครัฐบาล ตรงนี้ไม่เกี่ยว อยู่ตรงนี้ผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใครทั้งนั้น ผมเป็นประธาน ไม่ได้มองว่าเป็นพรรคนั้นพรรคนี้หรืออะไร ในสถานการณ์เช่นนั้นอย่าเอาตัวเองมาเป็นที่ตั้ง ตัวเองอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ เพราะมีคนขัดใจมันไม่ใช่ ผมไม่ได้เข้าข้างใคร” นายพิเชษฐ์ กล่าว

แต่ที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อมีข่าว นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคพท. และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุ “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

โดยกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี (ทภ.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง

โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับ “นายทักษิณ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคพท.ในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่ “นายทักษิณ” ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

โดยผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายขัดมาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใด อันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคพท. และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอม ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็เข้าข่ายขัดมาตรา 28 ซึ่งหากการสอบสวนพบว่า เป็นความผิดก็จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต. ให้ยื่นต่อศาลรธน. สั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. “นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรธน. เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคพท. ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ตามรธน.มาตรา 49 โดยคำร้องของนายธีรยุทธ มีจำนวนทั้งสิ้น 65 หน้า และมีเอกสารประกอบอีก 443 หน้า เมื่อรวมคำร้องและเอกสารที่เขาถ่ายสำเนามาส่งศาลในวันนี้รวม 10 ชุด จึงเป็นเอกสารจำนวนทั้งสิ้น 5,080 หน้า

โดยหนึ่งในพฤติกรรมและพฤติการณ์ของนายทักษิณ และพรรค พท. ที่ “นักร้องการเมือง” รายนี้เห็นว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ มีทั้งสิ้น 6 กรณี หนึ่งในนั้นคือ การเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าฯ หารือเรื่องการแต่งตั้งนายกฯ คนที่ 31 หลัง “นายเศรษฐา” สั่งการให้ขับพรรคพปชร. ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

แม้ก่อนหน้านี้ “นายทักษิณ” จะหายหน้าหายตาไปจากแวดวงสื่อ แต่ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น ก็ยังกลายเป็นวิบากกรรม ที่กลายเป็นโจทย์ร้อน ที่ทำให้ “พรรคพท.” ต้องมาแก้ข้อกล่าวหา ตกลงแล้ว อดีตนายกฯ ที่เป็นผู้มากบารมี เข้ามาครอบงำพรรคจริงหรือไม่ คงต้องรอดูว่า บทสรุปในการสอบสวนว่า จะออกมาในทางลบหรือทางบวก รวมทั้งจะมี “คลิปลับ” หลุดออกมาตามที่มีเสียงร่ำลือหรือไม่.

“ทีมข่าวการเมือง”