หนึ่งในคดีสำคัญของประเทศไทยที่ค้างคาเนิ่นนาน นั่นคือ คดีสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ในยุครัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 คน

กาลเวลาเลยผ่าน 20 ปี จนมาถึงวันที่ 23 ส.ค.2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง หลังจากประชาชนที่เป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นี้ยื่นฟ้องศาลเอง ซึ่งมีผู้ต้องหา 7 คน บวกกับสำนวนที่สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ด้วย ทำให้คดีนี้มีผู้ต้องหาจาก 2 สำนวน รวมเป็น 14 คน

แต่บรรดาจำเลยหลบลี้หนีหาย แม้ศาลออกหมายจับแล้ว ก็ดูจะยังไม่เป็นผล หนึ่งในจำเลยสำคัญอย่าง “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งขณะที่ยังเป็นสส. ได้ขอลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างว่าไปรักษาอาการป่วยที่ต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.-30 ต.ค.2567

ด้วยสถานะสส.ของพรรคเพื่อไทย และเป็นจำเลยในคดีสำคัญ ทำให้เสียงทวงถาม เสียงวิจารณ์ และแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ พุ่งกระหน่ำรายวันใส่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ให้เร่งตามตัว “บิ๊กอ๊อด” มาขึ้นศาล แต่ยังไร้วี่แววการกลับมาสู้คดี

และแล้วเจ้าตัวส่งตัวแทนยื่นจดหมายขอลาออกจากสมาชิกพรรคฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ต้องพ้นจากเก้าอี้สส.ด้วยตามกฎหมาย โดยสาระสำคัญในจดหมายนี้ระบุเหตุผลการลาออกว่าเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องของตัวเอง และเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อสภาฯ ซึ่งถูกมองว่าคงไม่ใช่การแสดงสปิริต เพราะไม่ได้ระบุถึงการกลับมาขึ้นศาล จึงเป็นแค่การรับจบให้พรรคฯโล่งใจ และเลื่อนคนในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อขึ้นมาเป็นสส.

ส่วนอากัปกิริยาของแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายๆคนที่มาแถลงข่าวพร้อมชูจดหมายลาออกนี้ ยิ้มออกทันที แต่ก็สะดุดที่ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า ต่อจากนี้เรื่องของพล.อ.พิศาลอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว จะให้รับผิดชอบอย่างไรอีก ซึ่งคำพูดเช่นนี้คงยิ่งไม่เป็นผลดีกับ“เพื่อไทย” ที่ถูกมองว่าขาดความใส่ใจจริงจังต่อคดีดังกล่าว

ด้าน “แพทองธาร ชินวัตร” ผู้สวมหมวก 2 ใบ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุเพียงว่า ให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ได้สั่งการตำรวจแล้ว และไม่อยากจะทำอะไรให้ยากกว่าเดิม ปาร์ตี้ลิสต์ขยับตามปกติ  

นอกจากกรณีของ “พล.อ.พิศาล” ยังมีจำเลยอีกคน คือ “ศิวะ แสงมณี” อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกพบว่าเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

แม้มีข่าวว่าจะประสานงาน “อินเตอร์โพล” ให้ออกหมายแดงจับตัวทั้งสอง แต่ฝ่ายตำรวจก็ยังไม่ยืนยัน และเป็นช่องทางที่ต้องใช้เวลา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้นำตัวจำเลยมาขึ้นศาลทันครบอายุความวันที่ 25 ต.ค.นี้

อดคิดไม่ได้ว่าการที่จำเลยยังเงียบหาย ไร้วี่แวววันกลับประเทศไทย เพราะติดแนวทาง “ตัดตอน” เพื่อช่วยใครไม่ให้กลายเป็นตัวละครสำคัญเพิ่มเติมในชั้นศาล