เห็นว่า ฉายา “สภาเลอะเทอะ” น่าจะเหมาะ เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อน เกิดเหตุฝนถล่ม สภาหมื่นล้านน้ำนองอีกแล้ว แถมเฟอร์นิเจอร์ซึ่งน่าจะแพงก็อมน้ำเหม็นเน่า และก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายครั้งที่เกิดเหตุอาคารสภาหมื่นล้านมีปัญหาตรงโน้นตรงนี้ เดี๋ยวฝ้าถล่ม ตรงนั้นพัง จนตรวจรับไม่ได้เสียที และไม่รู้ว่า ที่สุดแล้วใครจะต้องรับผิดชอบ

เมื่อสภาพสภาเละเทะ ยื่นร้องสอบหาผู้รับผิดชอบกันไปมา ก็น่าจะฉายารัฐสภาเลอะเทอะได้ แต่ก็มีประเด็นเกี่ยวกับสมาชิกรัฐสภาที่เห็นแล้วน่าระอาอยู่พอสมควร อันนี้แล้วแต่ใครจะคิดว่า เลอะเทอะหรือไม่ ทั้งจากเรื่องการอนุญาตให้ สส.ลา เราคงทราบแล้วตอนนี้ว่า “เจ้าพ่อแห่งการลา” คือหัวหน้าพรรคไหน แถมแก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ

หาทางลงโดยบอกว่า “โอเค ลาเยอะงั้นไม่ขอรับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น” แล้วถามว่า จะคงเป็น สส.อยู่ เพื่อ ? จะบอกว่ารอเสียบเป็นนายกฯ ก็ต้องบอกว่า เขาไม่ได้กำหนดคุณสมบัติ สส.ว่าต้องเป็นนายกฯ พอถามคนที่รับผิดชอบด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ว่า “ควรให้ลาเยอะขนาดนั้นหรือไม่” ก็แบ๊ะๆๆ ชี้แจงแบบแสบสีข้าง สุดท้ายไม่รู้เอาผิดได้หรือไม่

คณะกรรมการจริยธรรมสภาไม่ค่อยมีแอคชั่นอะไรที่แสดงให้เห็นว่า “ทำงานเร็วโดยไม่นิ่งนอนใจ” เขายื่นคำร้องให้สอบ สส.โดดประชุมถี่ไปแล้ว หลักฐานคาตาก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ตอนนี้ก็เห็นมีคนเล็งๆ จะยื่นสอบรองประธานสภาคนที่ 1 ที่อนุมัติใบลา จนมี สส.หนีหมายศาล ยังไม่รู้เลยว่าจะได้ดำเนินการสอบเมื่อไร

ความเลอะเทอะต่อมาคือ “เหมือนเป็นสภาชักเข้าชักออก จะแก้กฎหมายเพื่อเอาใจนักการเมือง แต่กลัวกระแสสังคม” คือเอาจริง กฎหมายที่น่าเห็นใจนักการเมืองคือ เรื่องประมวลจริยธรรม ที่รัฐธรรมนูญให้ฝ่ายการเมืองใช้ประมวลเดียวกับศาล ประกอบกับกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ทำให้ตอนนี้นักร้องได้ใจมาก นิดหน่อยก็จะร้องจริยธรรม

แต่ไปๆ มาๆ พรรคร่วมรัฐบาลก็ยึกยักกันเอง ตอนแรกประกาศจะแก้รายมาตราเรื่องโน้นนี้ ต่อมาภูมิใจไทยไม่ไปต่อ กลัวถูกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ต่อมา พอจะแก้ทั้งฉบับ ก็ยังยักแย่ยักยันกันเรื่องทำประชามติต้องชั้นเดียว เอาเฉพาะเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง แต่ สว.ไม่เอา ซึ่งไม่ทราบว่า เสียงข้างมากสองชั้นจะลำบากตรงไหนถ้ารณรงค์กันดีๆ

เลยคิดว่า คำถามประชามติน่าสนใจว่า “กลัวดราม่าอะไรกันหรือไม่ ถึงไม่อยากใช้ประชามติสองชั้น” อันนี้จริงๆ ก็มีตัวร่างคำถามออกมาแล้ว แต่เชื่อว่า ความชักเข้าชักออกจะทำให้ตัวคำถามต้องเปลี่ยนอีก ก็ไม่รู้ว่า ในที่สุดแล้ว ผลสรุปของกรรมาธิการ ( กมธ.) ร่วมสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา จะเอาประชามติกี่ชั้น คำถามว่าอะไร

ยึกยักต่อมาคือ กฎหมายนิรโทษกรรม ยังรอหารือกันอีก ว่า “พร้อมจะนำรายงานของ กมธ.วิสามัญ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือยัง” ซึ่งถ้าหารือเสร็จก็ต้องให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ยกร่างกฎหมายอีก ซึ่งก็จะมีปัญหาตั้งแต่ตอนนำรายงานเข้าสภา จะเถียงกันไม่จบสิ้นเรื่องคนโดนคดี ม.112 จะนิรโทษหรือไม่

การเล่นเกมกฎหมายอยู่ไม่กี่ฉบับ มันทำให้รู้สึกว่า “สภานี้ภายเรือวนในอ่าง” เพราะไม่เห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะทำกฎหมายอะไรตามแผนงานที่วางไว้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ถามใครต่อใครว่า กฎหมายอะไรที่ผ่านบ้าง เห็นทีจะจำกันได้แต่สมรสเท่าเทียม สุราเสรีที่ไม่เอาร่างของพรรคก้าวไกล ทั้งที่ควรมีกฎหมายอื่นให้คนไทยรู้สึกว้าว..มีความหวัง

ก็ฝากกระตุ้นไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้ชัดว่าจะเดินหน้ากฎหมายเพื่อเศรษฐกิจ สังคมได้เมื่อไร.