ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกและอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าแม้ปัจจุบันคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการที่ดีที่สุดในเอเชีย เนื่องจากมีการถอดบทเรียนจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การบังคับใช้กฏหมายกลับยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลออกฎหมายเพื่อพัฒนาคนพิการมากมายแต่สุดการบังคับใช้กลับไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ อาทิ การกำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานผู้พิการในอัตรา 100 ต่อ 1 ซึ่งหากสถานประกอบการใดไม่สะดวกที่จะจ้างก็ต้องจ่ายค่าปรับให้กับรัฐในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาทคูณ 365 วันหรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1.2 แสนบาทต่อปี เพื่อให้เกิดการต่อยอดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนพิการ
แม้ที่ผ่านมาสมาคมฯ จะได้จัดกิจกรรมกรรมรณรงค์ในทุกด้านเพื่อให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับคนพิการ หรือแม้แต่การขอให้ใช้มาตรการด้านภาษีจูงใจนายจ้างให้หันมาช่วยจ้างงานคนพิการเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ แต่ก็เป็นไปแบบเวทนานิยมไม่ใช่การจ้างงานตามความรู้ความสามารถแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องรถสาธารณะ และการจัดทำทางลาดในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนทั่วไป หรือแม้แต่การออกกฎหมายให้คนพิการเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี แต่สุดท้ายคนพิการ ก็ยังมีปัญหาตั้งแต่การเข้าเรียนในระดับประถม ที่หลายโรงเรียนยังปฏิเสธเพราะมองว่าเป็นภาระ
“สุดท้ายรัฐเองก็ยังลืมคนพิการ เพราะการออกกฎหมาย หรือออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อคนพิการก็ยังมีน้อยมาก ทั้งที่คนพิการเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งของสังคม และผมมักพูดเสมอว่าคนพิการคือคนแรกที่นักการเมืองคิดถึงเวลาหาเสียง และคนพิการก็เป็นคนสุดท้ายที่นักการเมืองจะคิดถึง เมื่อได้เข้าไปทำงานในสภาฯแล้ว”
ดร.ณรงค์ เผยอีกว่าในวันนี้สมาคมคนพิการภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็น หน่วยงานเอกชนของคนพิการได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น โดยเริ่มจากการใช้นโยบายพัฒนาคนพิการที่มีประมาณ 4-5 มิติทั้งเรื่องกีฬา การศึกษา อาชีพ การดูแลทางการแพทย์ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งคนพิการทั้งประเทศไทยมีประมาณ 2.2 ล้านคน แต่คนพิการทางการเคลื่อนไหวมีประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งสมาคมฯ ได้พยายามหางานให้ทำในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมาย
สิ่งที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยและสมาคมคนพิการภาคตะวันออก ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 คือการฝึกอาชีพให้กับคนพิการด้านการเคลื่อนไหว ตามมาตรา35 เพื่อให้ได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิการที่ได้รับประกาศนียบัตรการฝึกอบรมอาชีพแล้วรวมทั้งสิ้น 2883 คน และเมื่อวันที่20พ.ค.-20พ.ย.ที่ผ่านมาสมาคมฯ ยังได้ยกห้องเรียนไปหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเพื่อฝึกอาชีพในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจังหวัดชายขอบด้วยการฝึกอบรมการทำขนมเบเกอรี่ 600 ชั่วโมง ที่ศูนย์ฝึกอบรมสมาคมคนพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกายบุรีรัมย์ อ.กระสัง โดยมีผู้เข้าอบรม 76 คน โดยระหว่างผู้พิการจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 328 บาท อาหาร3 มื้อ วัสดุอุปกรณ์ฟรีและเมื่อเรียนจบยังจะได้รับเตาอบ วัสดุอุปกรณ์ฟรี รวมทั้งยังจะได้รับใบประกาศจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ส่งอาจารย์ชำนาญการมาเป็นผู้สอนอีกด้วย นอกจากนั้นตลอดปี 2567 ได้จัดฝึกอบรมอาชีพการทำเบเกอรี่ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้าระดับต้น 600 ชั่วโมงให้กับผู้พิการใน จ. ชลบุรี ,สุรินทร์ ,อ่างทอง และสงขลา โดยครูผู้มีความรู้ความสามารถที่มีใบประกาศจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นผู้ฝึกสอน
“ในปี 2568 สมาคมฯ ยังมีแผนที่จะยกห้องเรียนไปหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเพื่อฝึกอาชีพในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดเชื่อว่ามีคนพิการที่ได้รับความยากลำบากจำนวน โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากินและการสร้างรายได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท.และ BSA และในปี 2568 ที่กำลังจะถึงนี้หากมีสถานประกอบการใดต้องการสนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนพิการ เราก็ยินดี” ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งที่คนพิการอยากได้จากรัฐบาลก็คือ เรื่องของการจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียบกับคนปกติ เพราะแม้แต่การแข่งขันกีฬาคนพิการในระดับโลกก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ คนปกติที่ได้รับเหรียญทองได้รับการยกย่อง แต่คนพิการสิ่งที่ได้รับยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนปกติ ยกตัวอย่างเช่น คนพิการที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และได้เหรียญกลับมา บางจังหวัดยังไม่จัดงานให้ ทางสมาคมฯ ก็ต้องไปจัดกันเองและทำได้เพียงขอร้องเจ้าหน้าที่ให้ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร แต่เมื่อปิดถนนให้ก็ถูกบ่นว่าสร้างความเดือดร้อน แต่เราแค่อยากให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการก็คือคนในสังคมเช่นกัน และอยากให้คนพิการมีความภาคภูมิใจ ส่วนเรื่องการจ้างงานขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนั้น หากเกิดขึ้นจริง คนพิการก็จะได้ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงคือคนพิการแม้จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาเอก แต่อัตราค่าจ้างที่ได้รับคือในระดับขั้นต่ำและยังเป็นไปแบบปีต่อปี ทั้งที่คนพิการในปัจจุบันมีทั้งแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้นจึงขอโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น” นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกและอุปนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย