“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมทางหลวง(ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีบประมาณ 2568  วงเงินผูกพัน 3 ปีรวม 4,490ล้านบาท (ปี 68-70) เพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ช่วงพุทธมณฑลสาย 3-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม. โดยอยู่ระหว่างจัดทำราคากลางเพื่อประกวดราคาก่อสร้าง(ประมูล) โครงการและมีแผนก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 68 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีแล้วเสร็จปี 70   เบื้องต้นมีขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับด้านละ 2 ช่องจราจร)

ทั้งนี้กรมทางหลวง ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการแล้วเสร็จรวมระยะทางประมาณ 21 กม. งบประมาณ 17,000 ล้านบาท รวมทั้งจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วตั้งแต่ปี 2561 แบ่งก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  1. ช่วงพุทธมณฑลสาย 3(ส่วนต่อขยายจากสาย 2)-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม.

2. ช่วงพุทธมณฑลสาย 4-ทางหลวงหมายเลข 4(ถนนเพชรเกษม) ระยะทาง 17.980 กม. งบประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอขอรับงบก่อสร้างปี 71-75 ต่อไป

สำหรับทางยกระดับบนถนนบรมราชชนนีหรือทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อคู่ขนานกับถนนบรมราชชนนีในแนวระนาบลดปัญหาการเวนคืนบ้านเรือนประชาชน  ซึ่งกรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้ก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากแยกอรุณอัมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อยระยะทาง 3.2กม. ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และกรมทางหลวงรับผิดชอบก่อสร้างจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงแยกพุทธมณฑลสาย 2  ระยะทาง 9.4 กม. 

รายละเอียดโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าฯในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 9.4 กม. เปิดบริการเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2541 ด้วยงบก่อสร้าง 4,461,609,680 บาท เริ่มตั้งแต่ตอนชุมทางต่างระดับสิรินธร-แยกพุทธมณฑล กม.3+386 ถึง กม.13+200 บนทล.338 (สายบางกอกน้อย – นครชัยศรีหรือถนนบรมราชชนนี) เป็นสะพานยกระดับสูง 15 เมตร กว้าง 19.50 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร แยกทิศทางไปกลับข้างละ 2 ช่อง กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีทางขึ้นลง 2 แห่ง 

นอกจากนี้ยังขยายถนนพื้นล่างเพิ่มจาก 8 ช่องเป็น 12 ช่องเป็นช่องทางด่วน 6 ช่องและทางคู่ขนานด้านละ 3 ช่องพร้อมสะพานกลับรถ2 แห่ง              ช่วยระบายการจราจรพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ออกนอกเมืองและสู่ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันตกและภาคใต้ด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขี้น เนื่องจากมีช่องจราจรรองรับถึง 16 ช่อง