ทำให้ตั้งแต่เปิดปี 2564 รัฐบาลของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เลือกเทน้ำหนักให้กับการประคับประคองเศรษฐกิจ หวังให้ช่วยประคับประคองปากท้องประชาชนด้วยเช่นกัน

               แม้เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เกิดการระบาดระลอก 3 เพราะแรงอาละวาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ “อัลฟา” หรือเรียกง่ายว่า “สายพันธุ์อังกฤษ”  แต่รัฐบาลยังไม่ใช้ไม้แข็งประกาศ“ล็อกดาวน์” ห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด

               ต่อมาเดือน พ.ค.พบเชื้อ“สายพันธุ์อินเดีย”หรือ“เดลตา” ที่มีฤทธิ์กระจายตัวไวกว่า 40 เท่า ติดตัวแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างย่านหลักสี่  ตามมาด้วยภาพกราฟตัวเลขแต่ละส่วนยังทะยานขึ้น

ทำให้“บิ๊กตู่” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ใช้มาตรการปิดแคมป์คนงานและไซต์ก่อสร้าง เพื่อคงคอนเซ็ปต์การสู้โรคภัยโดยไม่ให้กระทบเศรษฐกิจรุนแรง พร้อมหวังกระจายคนให้ได้ไปรักษาตัวในต่างจังหวัด ลดปัญหาปริมาณคนป่วยเกินจำนวนเตียงของโรงพยาบาลในกทม.

แต่ผลปรากฏมาตลอด 14 วันที่ผ่านมา ล้วนชี้ให้เห็นว่าแผนการข้างต้นไม่ได้ผล เพราะที่จริง การติดเชื้อในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน คิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดรวมการติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล แต่ผู้คนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากในบ้าน ในชุมชน ดังนั้น อัตราการเจ็บป่วยและล้มตายจากเจ้าไวรัสนี้จึงพุ่งสูงก้าวกระโดดอย่างน่าใจหาย

ด้านโรงพยาบาลหลายแห่งแจ้งปิดวอร์ด ไม่รับคนไข้ทั่วไป และยังเลื่อนนัดผู้ป่วยโรคอื่นๆ จำนวนมาก จนยิ่งทำให้หวั่นวิตกกันถ้วนทั่วว่าระบบสาธารณสุขบ้านเรากำลังจะเข้าสู่วิกฤติขั้นร้ายแรงแล้วจริงๆหรือ

ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องหันมาทำตามเสียงของฝ่ายสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ร้องขอมาเนิ่นนานให้กลับมาใช้มาตรการ“ล็อกดาวน์” ลดการเคลื่อนย้ายของผู้คน  หลังจากเคยใช้ได้ผลเมื่อการระบาดรอบแรกในปีที่แล้ว

แต่กฎเหล็กที่ออกมาจะเกิดผลจริงได้ ต้องมาจากความเข้มงวดจริงจังของบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และต้องได้ความร่วมมืออย่างจริงจังจากประชาชนทั้งหลายด้วยเช่นกัน

หากอีก 2 สัปดาห์หลังจากนี้ สถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้น การติดเชื้อใหม่รายวันลดลง ส่วนผู้ป่วยเดิมยังได้รับการรักษา และทยอยหายมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จะเริ่มได้พัก และกลับมามีขวัญกำลังใจในการสู้งานหนักรักษาชีวิตคน

และน่าคิดที่รอบนี้ย้ำการเร่งฉีดวัคซีน “โควิด-19”ให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับผลการศึกษาของแพทย์ที่พบว่าวิธีนี้จะช่วยลดอัตราการตายหลายพันราย และจะลดการครองเตียงของผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังมีการระบุให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า นั่นก็เพราะกำลังจะเข้าจังหวะเหมาะกับกำหนดเวลาที่จะต้องใช้วัคซีนต่างชนิดฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ให้ทีมดังกล่าว

ทั้งหมดนอกจากเป็นความพยายามเร่งกอบกู้วิกฤติแล้ว ยังถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่อาจเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล และของประเทศ

เพราะหากลงเอยแพ้เดิมพัน ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่พัง แต่ยังฉุดคนทั้งชาติพ่ายแพ้ด้วย