เริ่มเดินหน้าพีอาร์ผลงานอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ได้มีการผุดรายการ “เสียงจากใจ…ไทยคู่ฟ้า” ซึ่งเป็นรายการวิทยุออกอากาศทางเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ ทั่วประเทศและสามารถรับชมผ่านเว็บไซต์ได้ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นนโยบายการทำงานของรัฐบาลในรอบ 1 สัปดาห์ เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งช่วงแรกอาจเป็นการโฟนอินของนายกฯ เข้ามา เพราะนายกฯ มีภารกิจแน่น หรืออาจเป็นการบันทึกเทปพูดคุยกับนายกฯ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองท้องถิ่น เพื่อออกเสียงตามสายในช่วงวันเสาร์ หลังเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. เพราะเกินครึ่งนิยมฟังวิทยุ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

ก่อนหน้านี้ สมัย “นายทักษิณ ชินวัตร” ทำหน้าที่นายกฯ ก็ผุดรายการ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” พอมาถึงยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก็มีรายชื่อ “คุยกับเศรษฐา” ถือเป็นการบอกเล่าการทำงานในรอบสัปดาห์ให้ประชาชนได้รับรู้

โดยในการจัดเปิดรายการเป็นวันแรก “นายจิรายุ ห่วงทรัพย์” โฆษกประจำสำนักนายกฯ มีการสรุปภาพรวมภารกิจของ น.ส.แพทอง ชินวัตร นายกฯ ในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยการหารือของผู้นำทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันจับมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปัญหาหมอกควัน และยาเสพติดระหว่างชาติ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันอุทกภัยระหว่างกันในอนาคต นอกจากนี้นายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44-45 และการประชุมอื่น รวมทั้งการพบปะผู้นำแต่ละชาติที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นกว่า 20 การประชุม

พร้อมทั้งยืนยันว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอและผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งนายกฯ หยิกยกและผลักดันการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน และการขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นอกจากนี้ “โฆษกรัฐบาล” ยังชี้แจงถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ที่ออกมาระบุเรื่องการไหลของน้ำจากแม่น้ำปิง ไปลงแม่น้ำโขงว่า นายกฯ อาจเว้นวรรคการพูดที่ไม่ห่างพอ เพราะที่ประชุมมีการพูดใน 2 ประเด็น ซึ่งแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย ที่น้ำท่วมที่บริเวณ 3 เหลี่ยมทองคำ ซึ่งนายกฯ ระบุว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณดังกล่าวอยู่ในระดับที่เหมาะสม น้ำไม่ได้เอ่อล้น ขณะเดียวกันเชียงรายมีแม่น้ำอีกหนึ่งสายในตัวเมือง คือ แม่น้ำกก ซึ่งแม่น้ำปิงที่ จ.เชียงใหม่ เอ่อล้นไหลพาดผ่านไปยัง จ.ลำปาง ประกอบกับการที่นายกฯ อ่านวรรคไม่ถูกต้อง และต้องการอธิบายการไหลของน้ำมายังเขื่อนภูมิพล และไหลลงมายังพื้นที่ทางตอนล่าง ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์น้ำมวลน้ำจะเริ่มทยอยลงมา ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ไม่น่ากังวลอะไรว่าจะซ้ำรอยปี 2554

ต้องรอดูกระบวนการใช้สื่อรัฐ ชี้แจงผลงาน หรือไขข้อข้องใจต่างๆ จะทำให้สังคมพอใจการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ในโลกสังคมโซเชียล ก็ยังตามจับผิดหัวหน้ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการใช้ไอแพด หรือการกล่าวในวาระต่างๆ

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะดำเนินการได้ทันก่อนเลือกตั้งปี 2570 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เห็นต่างในรายละเอียดเกี่ยวกับรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยอยู่ในขั้นที่ต้องกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมในการพิจารณา ทำให้ “นายนิกร จำนง” สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) หนึ่งใน กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ออกมาให้ความเห็นถึงการตั้ง กมธ.ร่วมมาพิจารณา เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ สส.และสว. เห็นไม่ตรงกัน ว่า การที่ สว. ยังไม่ส่งชื่อคนเป็น กมธ.ร่วม มา อาจทำให้การพิจารณาล่าช้า เพราะวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะปิดสมัยประชุมแล้ว

ส่วนข้อเสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เชื่อเวลาคงไม่เพียงพอ จะทำประชามติทันเลือกตั้งท้องถิ่นเดือน ก.พ. 2568 เหมือนปล่อยเลยตามเลย ถ้า สส. ยืนตามร่างเดิมก็เท่ากับหัก สว. ยิ่งทำให้การทำรธน.ที่ต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 เป็นไปได้ยาก แก้ รธน. ไม่ได้เลย แม้แต่มาตราเดียวก็แก้ไม่ได้ ทางออกจึงควรจูนกันอย่างเร่งด่วน ถ้าร่วมมือกันเชื่อว่าจะพิจารณาได้เสร็จทัน เพราะมีแก้แค่มาตราเดียวตกลงกันได้ก็จบ กมธ.ร่วมฯ เป็นทูตสันถวไมตรีของทุกฝ่าย จะต้องจบที่ กมธ.ร่วม ดูแล้วต้องถอยทั้ง 2 ฝ่าย

“ขอเสนอทางสายกลางต่อ กมธ.ร่วม เพื่อให้พิจารณาเสร็จก่อนวันที่ 30 ต.ค.นี้ โดยแก้จากหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้นเป็นขอให้มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง จะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านกว่าคน จากนั้นให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นตัวตัดสินการผ่านประชามติ น่าจะมีน้ำหนักที่เป็นเสียงเกณฑ์ขั้นต่ำตามสมควร” นายนิกร กล่าว

รอจับตาดูท่าทีของ สว. จะมีความเห็นอย่างไร ยิ่ง “พรรคภูมิใจไทย (ภท.).” งดออกเสียงการลงมติ ต่อร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ยิ่งถ้า กมธ.ร่วม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติของพรรคภท. ออกเสียงเห็นด้วยกับกมธ.ของวุฒิสภา ที่เสนอว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น หรือจะเป็นไปอย่างที่หลายคนพูดว่า การแก้ไข รธน. ในสถานการณ์ปกติ ทำได้ยากเย็นแสนเข็น ยกเว้นเกิดสถานการณ์พิเศษหรือมีรัฐประหารเกิดขึ้น

ยังเดินหน้าผลักดันข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส. พรรคประชาชน (ปชน. ) ในฐานะ ประธานกรรมาธิการ (กมธ) การทหาร ไปกล่าวในการเสวนา ตามหาขุมทรัพย์แสนล้านกองทัพไทย ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปกองทัพมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญ คือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วสร้างระบบการรับสมัครทหารกองประจำการ แบบสมัครใจ 100% เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยรบพิเศษจำนวนมาก ซึ่งมีการฝึกมนุษย์เหล็กที่มีความโหด และหนักมาก แต่ กมธ.การทหารไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนใดๆ คนที่เข้ารับการฝึกล้วนมาจากความสมัครใจ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเจอกับการฝึกแบบไหน ขณะที่เปิดโครงการพลทหารปลอดภัย ก็มีเรื่องร้องเรียน 38 เรื่อง ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเกิดจากปัญหาที่ตัวพลทหารเอง ดังนั้นยืนยันว่าความสมัครใจเป็นเรื่องสำคัญและเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้นักรบหรือทหารมืออาชีพ

นายวิโรจน์ ยังระบุอีกว่า กว่า กรณีพลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล ที่เสียชีวิตนั้นผลการชันสูตรชัดเจน เข้าข่ายต้องสงสัยเป็นการซ้อมทรมาน ซึ่งเราได้รวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้กับดีเอสไอ , อัยการฝ่ายสำนักการสอบสวน ส่วนพลทหารศิริวัฒน์ ใจดี ได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน เพื่อพิจารณาสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  (พ.ร.บ.อุ้มหาย) โดยพ.ร.บ.นี้จะไม่ขึ้นศาลทหาร แต่ขึ้นศาลอาญาทุจริต

ที่สำคัญคือมาตรา 42 จะมีการเอาผิดกึ่งหนึ่งกับผู้บังคับบัญชาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งใดที่ กองทัพจะเอาผิดนายทหารระดับบังคับบัญชาอย่างจริงจัง ตามพ.ร.บ.อุ้มหาย ขอให้กระทรวงกลาโหมออกระเบียบอิงกับพ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตกรณีผู้ถูกกระทำเสียชีวิต หรืออิงกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะมาตรา 13 ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดถึง 2 เท่า ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เห็นการเอาผิดผู้บังคับบัญชา ประชาชนจะสงสัยวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

นายวิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า อะไรที่ตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับภารกิจกองทัพอย่างไร ก็ควรจะถ่ายโอนคืนกลับมาให้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐ ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น คลื่นโทรทัศน์ที่ทหารถือครองไว้แต่หาข้อมูลได้ยากลำบาก ต้องสงสัยว่าจะขาดทุนสะสมมหาศาล สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจทั้งสนามกอล์ฟ สนามมวย และอื่นๆ ยืนยันว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งใส หากไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้สิ่งที่อ้างว่าทำเพื่ออาหารชั้นผู้น้อยก็ยาก ที่ประชาชนจะเชื่อได้อย่างวางใจ 100% ยืนยัน สิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ใช่การเป็นศัตรูกับกองทัพ แต่ต้องการทำให้กองทัพแข็งแรง มีนักรบที่มีประสิทธิภาพ มีกองทัพที่ประชาชนพึ่งพาได้ ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีเยี่ยม ไม่ใช่เอาเวลาทรัพยากรไปปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของตัวเอง

ด้าน “นายธนาธร​ จึง​รุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า​ กล่าวในหัวข้อ​ ข้อเสนอผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม ว่า กองทัพต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทหารต้องออกจากการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7 ปีหลังจากเกษียณราชการ แก้ไขพ.ร.บ.สภากลาโหม ยกเลิกศาลทหารในสถานการณ์ปกติ​ ลดขนาดกองทัพลงร้อยละ 30 ลดจำนวนนายพลให้เหลือแค่ 400 นาย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเพิ่มสวัสดิการเพิ่มแรงจูงใจในการสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) นำงบประมาณและบุคลากรมา จัดสรรใหม่

ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นจริง แต่สิ่งที่จับต้องได้คือ ร่างพ.ร.บ. ยกเลิก กอ.รมน. สถานะถูกนายกฯ​ นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ ปัดตกไม่ได้เข้าสภาฯ ​ด้วยให้เหตุผลว่าเป็นร่างที่อำนาจไม่เกี่ยวข้องกับนายกฯ​ ส่วนร่างพ.ร.บ​วินัยการเงินการคลัง การยกเลิกเงินนอกงบประมาณของกองทัพถูกตีตก​ เช่นเดียวกับร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่จะปฏิรูปกองทัพ ธุรกิจกองทัพถูกตีอยู่ในกองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัท โดยยืนยันว่า​ การปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่การลดสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย เพราะงานการใช้งบประมาณจากธุรกิจกองทัพมีความไม่แน่นอน เหมือนการของบประมาณ

ต้องรอดูนโยบายของกระทรวงกลาโหมภายใต้การนำของ “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ซึ่งตามแนวทางของกองทัพ จะมีการลดการเกณฑ์ทหารลงไปเรื่อยๆ จนมีไม่มีการเกณฑ์ แต่การถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ เช่น สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สนามกอล์ฟ และสนามมวย ให้กลับไปอยู่การบริหารของภาครัฐ เพราะถือเป็นการทุบหม้อข้าวกองทัพ คงต้องบอกข้อเสนอดังกล่าวยากเย็นแสนเข็ญ คงต้องรอดูว่า รัฐบาลภายในการนำพรรคเพื่อไทย(พท.) จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะลึกๆ แล้ว เชื่อว่า พรรคแกนนำรัฐบาล คงไม่อยากมีปัญหากับกองทัพ หรือในที่สุด จะเป็นแค่ข้อเสนอที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง.

“ทีมข่าวการเมือง”