เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์แชร์ข้อมูลอ้างว่าจะมีโอกาสพายุเข้าประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 13-14 ต.ค. นี้ ไทยจึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดนั้น ศปช. ได้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว พบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยอาจเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และจากการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนใกล้บริเวณประเทศไทย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวปลอมได้ที่เพจกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า จากปริมาณฝนและจำนวนน้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา สถานี C.2 นครสวรรค์ 2,225 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และการระบายน้ำ 2,002 ลบ.ม. ต่อวินาที มีแนวโน้มดีขึ้น ที่ประชุม ศปช. ในวันนี้ (12 ต.ค.) จึงปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เหลือ 1,950 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า และสมดุลกับสถานการณ์น้ำหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค. นี้ ขณะเดียวกัน จากการปรับการระบายน้ำดังกล่าวในวันนี้ เหลือ 1,950 ลบ.ม. ต่อวินาที จะส่งผลดีต่อพื้นที่วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี, อ.เมือง, อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และวัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง

นายจิรายุ กล่าวว่า ในช่วงนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มได้ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่มในพื้นที่ลาดชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อ.เวียงสระ อ.พระแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี, อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช และ อ.เบตง, อ.ธารโต จ.ยะลา รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 13-17 ต.ค. นี้ ยังต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำล้นตลิ่งและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทันบริเวณ จ.กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนล่วงหน้าของหน่วยงานราชการแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงด้วย

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เป้าหมาย 1,367 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 1,315 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 52 ครัวเรือน คิดเป็นความคืบหน้า 96 เปอร์เซ็นต์ และการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เฟส 2 กิจกรรมการฟื้นฟูล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ได้รับผลกระทบ 819 ครัวเรือน ช่วยเหลือแล้ว 598 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 221 ครัวเรือน คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์