เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความเสนอความเห็น เรื่อง “ถึงเวลาเลิกกองทุนน้ำมัน?” ระบุว่า ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่จะให้กองทุนน้ำมันกู้เงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อตรึงราคาดีเซล 30 บาท และเห็นว่าถึงเวลาเลิกกองทุนน้ำมัน ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1.ราคาน้ำมันไม่ได้สูงขึ้นแบบชั่วคราว สาเหตุหนึ่งที่ราคาโลกสูงขึ้น เพราะประเทศต่างๆ กลับสู่ปกติหลังวัคซีน (reopening) จึงมีการเดินทางมากขึ้น มีการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมากขึ้น ดังนั้น ปริมาณการใช้น้ำมันมีแต่จะกลับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ มิใช่เรื่องชั่วคราว
อีกสาเหตุหนึ่ง แนวโน้มการลงทุนพลังงานในช่วงหลายปีได้หันเหออกไปจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเน้นพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ทำให้การพัฒนาการผลิตน้ำมันมีน้อยกว่าที่ควร ประกอบกับผู้ผลิต shale oil จำนวนหนึ่งในสหรัฐหยุดพักการผลิตชั่วคราวเพราะล็อกดาวน์ทำให้ขาดทุนจากต้นทุนที่สูง จะต้องใช้เวลาเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อรื้อฟื้นการผลิต
ดังนั้น ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น จึงไม่ใช่เหตุการณ์ชั่วคราว แต่ยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก โดยมีนักวิเคราะห์หลายรายคาดว่าจะทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัฐบาลจึงจะต้องตรึงราคาดีเซลเป็นเวลานาน และในเมื่อราคาน้ำมันโลกค้างอยู่ระดับสูง รัฐบาลไทยจะไม่สามารถปรับขึ้นอัตราจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อใช้คืนหนี้ 20,000 ล้านได้โดยง่าย
แนวคิดนี้ จึงจะเป็นการกู้หนี้ยืมสินมา เพียงเพื่ออุดหนุนการบริโภคน้ำมัน โดยยังมองไม่เห็นโอกาสที่จะชำระคืนหนี้ เว้นแต่ถ้าหากราคาน้ำมันกลับโน้มต่ำลง ก็จะเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกกลับชะลอตัว ไม่ว่าจากรัฐบาลสหรัฐต้องยุติการกระตุ้นด้วยการแจกเงิน อันทำให้กำลังซื้อของประชาชนแผ่วลง ซึ่งในเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจไทยชะลอลงไปด้วยเช่นนั้น ประชาชนคนไทยผู้ใช้น้ำมันก็จะยิ่งไม่มีความพร้อมที่จะเพิ่มอัตราที่จ่ายเข้ากองทุนน้ำมัน
ดังนั้น แทนที่จะตรึงราคาน้ำมัน รัฐบาลควรจะปูพื้นให้ผู้ประกอบกิจการขนส่ง ถ่ายต้นทุนที่สูงขึ้นนั้นต่อไปยังโรงงาน ผู้ค้าส่งค้าปลีก เพื่อทยอยปรับราคาแก่ผู้บริโภค เป็นการกระตุ้นให้ริเริ่มวางแผนบริหารการใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว เพื่อเตรียมรับกับสภาวะแท้จริงของตลาดโลก แทนที่จะปิดประตูให้คนไทยทำตัวเหมือนเดิม ซึ่งกว่าจะปรับตัว ก็เมื่อสาย
2.ปัญหาเกิดจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารก๊าซหุงต้มผิดพลาด หลายปีที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำ รัฐบาลเก็บอัตราจ่ายเข้ากองทุนแต่ละเดือนเป็นเงินจำนวนมาก แทนที่จะสะสมเอาไว้ เพื่อว่าถ้าหากจะต้องการตรึงราคา ในวันนี้รัฐบาลก็จะมีเงินในลิ้นชักพอใช้พร้อมอยู่แล้ว จะไม่ต้องไปกู้ยืม แต่รัฐบาลกลับไปสร้างภาระที่ต้องควักเงินจากองทุนน้ำมัน เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม
สาเหตุที่ต้องควักเงินจากองทุนน้ำมัน เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม เกิดจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารก๊าซหุงต้มผิดพลาด โดยไปยกเลิกเพดานที่คุมราคาก๊าซหุงต้มที่ครัวเรือนใช้ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าได้ตรึงเพดานไว้เป็นเวลานาน ด้วยรัฐบาลก่อนเห็นว่าปริมาณก๊าซหุงต้มที่ครัวเรือนใช้นั้น เป็นก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย สมควรจะให้ประโยชน์ไปตกแก่ครัวเรือน ส่วนภาคธุรกิจปิโตรเคมีที่ต้องแข่งขันซื้อก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ก็ควรให้เป็นฝ่ายที่รับภาระตามราคาตลาดโลก
แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับไปยกเลิกเพดาน เปลี่ยนเป็นราคาก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือนไปอ้างอิงราคาตลาดโลก ทั้งที่เป็นก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย ในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงขึ้น ครัวเรือนจึงเดือดร้อน แต่ในทางกลับกัน นโยบายนี้กลับทำให้บริษัทที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
เมื่อตระหนักว่าครัวเรือนต้องเดือดร้อน แทนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะแก้ไขนโยบาย กลับไปที่เดิม ก็หาทางแก้ไขแบบชั่วคราว โดยควักเงินจากองทุนน้ำมัน เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม ด้วยเหตุนี้ กองทุนน้ำมันจึงไม่มีต้นทุนเงินเหลืออยู่ในมือมากนัก ทั้งที่บังคับให้ประชาชนจ่ายเข้ากองทุนมาโดยตลอด กลับจะต้องไปกู้ 20,000 ล้าน เหตุเกิดจากการบริหารผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์นั่นเอง
3.การใช้กองทุนน้ำมันช่วยเรื่องพลังงานจากพืชเปิดช่องให้มีการรั่วไหล ที่ผ่านมา รัฐบาลอุดหนุนการใช้พลังงานจากพืชเพื่อผสมกับน้ำมัน ทั้งแก๊ซโซฮอล์ และไบโอดีเซล โดยจ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน จึงเป็นข้ออ้างว่า เหตุผลที่ยังต้องมีกองทุน ก็เพื่อการนี้ แต่ขบวนการนี้มีความเสี่ยงเปิดช่องให้มีการรั่วไหล เพราะกองทุนมิได้จ่ายเงินอุดหนุนตรงให้แก่เกษตรกร แต่จ่ายให้แก่โรงกลั่น ดังนั้น จึงไม่มีขบวนการที่จะมั่นใจได้ว่า ไม่มีการบีบแคบแหล่งที่โรงกลั่นจะซื้อพลังงานพืชว่าจำกัดวงเฉพาะพรรคพวกของตนหรือไม่ ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าราคารับซื้อเป็นธรรมต่อกองทุนน้ำมันหรือไม่จึงถึงเวลาที่จะพิจารณายกเลิกกองทุนน้ำมัน แล้วใช้กลไกอื่นที่สนับสนุนเกษตรกรพืชพลังงานแบบตรงจุดตรงเป้ามากกว่า
4.รัฐควรกำหนดเพดานค่ากลั่นและค่าการตลาด โฆษกกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ตลาดน้ำมันในประเทศขณะนี้มีการแข่งขันกันเสรีอยู่แล้ว การเปรียบเทียบกับราคานำเข้าน้ำมันจากสิงค์โปรจึงเหมาะสม เพราะถ้าหากโรงกลั่นในไทยเอากำไรมากเกินไป ก็จะมีคนอื่นนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เพื่อมาแข่ง แต่ในข้อเท็จจริง กลุ่ม ปตท. เคยมีหุ้นในโรงกลั่นต่างๆ โดยควบคุมกำลังการกลั่นในประเทศอยู่สูงถึง 60% ซึ่งโครงสร้างธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่สามารถเรียกได้ว่ามีการแข่งขันกันเสรี และไม่สามารถหวังได้ว่าโรงกลั่นในประเทศจะแข่งขันห้ำหั่นราคากันได้จริงจัง
นอกจากนี้ สภาวะธุรกิจการกลั่นน้ำมันน่าจะมีกำไรเกินกว่าปกติของสากล ดังเห็นได้ว่า อัตรากำไรสูงน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เอกชนขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน จนเคยเกินกว่าตวามต้องการของตลาดภายในประเทศไปแล้วประมาณ 1 ใน 5 ด้วยเหตุนี้ โรงกลั่นจึงเคยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาที่ต่ำกว่าขายให้แก่คนไทย
ดังนั้น ตราบใดโครงสร้างธุรกิจยังมีบางบริษัทที่ครองส่วนแบ่งอยู่สูง อันยังไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีได้จริงนั้น รัฐบาลควรใช้วิธีกำหนดเพดานค่ากลั่นและค่าการตลาด ให้เป็นอัตราที่กำไรพอสมควร ไม่ให้สูงจนเกินไป เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างโรงกลั่น ผู้ค้าส่งค้าปลีก และประชาชนผู้บริโภค
5.รัฐควรระมัดระวังการก่อหนี้ ขณะนี้ รัฐบาลมีหนี้มากมาย และต่อไปเมื่อดอกเบี้ยเข้าวัฎจักรโน้มสูงขึ้น ภาระดอกเบี้ยที่รัฐจะต้องจ่ายแต่ละปีก็จะหนักอยู่แล้ว และเนื่องจากรัฐขาดดุลงบประมาณ ก็จะต้องกู้เพิ่มเพียงแค่เพื่อยืนอยู่กับที่ ประกอบกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เน้นนโยบายใช้จ่ายเงินกู้ส่วนใหญ่เพื่ออุปโภคบริโภค อันช่วยสร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน จึงไม่สามารถช่วยเพิ่มรายได้ภาษีในอนาคต
ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลควรระมัดระวังการก่อหนี้ และควรเลิกแนวคิดที่จะก่อหนี้ซ่อนรูปผ่านกองทุนน้ำมัน เพราะถ้าหากสุดท้ายไม่สามารถเก็บเงินมาชำระหนี้ หนี้ของกองทุนก็จะตกเป็นภาระแก่ประชาชนทั้งประเทศ