เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันอยู่ที่ 2,318 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนของการระบายน้ำยังคงที่ 2,199 ลบ.ม./วินาที                

“การระบายน้ำขณะนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2554 ระบายน้ำอยู่ที่ 3,703 ลบ.ม./วินาที จำนวนระบายน้ำ ยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ ในภาคเหนือ และ ภาคกลางมีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช.ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วม เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน โดยส่วนราชการที่ บริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ รายงานว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. นี้ ส่วนการเตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพ – นนทบุรี ได้มีการเตรียมการป้องกันพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าพื้นที่บ้านเรือนประชาชน “

นายจิรายุ กล่าวถึงสถาณการณ์ ในภาคใต้ตอนบนว่า ใน 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณฝนอยู่ที่ 100 – 140 มม. และหากมีการตกต่อเนื่อง ปริมาณฝนเกิน 200 มม. สะสมในพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ ขอให้ประชาชน ฟังรายงานของ ศปช. และ หน่วยงานราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด                  

“ในส่วนของ จ.ยะลา เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ได้รับการแจ้งเหตุดินถล่ม 5 จุด บริเวณเส้นทางเข้าสวนดอกไม้เมืองหนาว บ้านปิยะมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทยะลาได้นำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางได้ทุกจุดแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มถึงการฟื้นฟูปัญหาเส้นทางที่เสียหาย 10 เส้นทางในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ตาก น่าน หนองคาย สุโขทัยและกรมการขนส่งทางบก รวมถึงสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 แห่งที่ 3 และรถไฟในเส้นทางสายเหนือกรุงเทพ-เชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแล้ว เมื่อวานนี้ ในส่วนของการจราจรใน จ.เชียงใหม่ ได้มีการเปิดบริการภาพรวมหลายจุดแล้ว และในบริเวณพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังได้มีการติดป้ายเเจ้งเตือน ทางเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้เข้าไปอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ในส่วนของดินสไลด์ ดินถล่ม พื้นที่ไหนที่มีดินสไลด์ ดินถล่มซ้ำซากจะมีการเอาอุปกรณ์ไปประจำพื้นที่ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่จะเข้าไปเคลียทาง เพื่อช่วยเหลือได้ทันที และได้ทำฐานข้อมูลจุดเสี่ยงดินโคลนถล่ม เพื่อประสานให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนต่อไป สำหรับการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีความคืบหน้ามาก เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ภาพรวมดำเนินการแล้ว 63% จากบ้านเรือนประชาชนทั้งสิ้น 753 หลัง ฟื้นฟูแล้ว 478 หลัง คาดเสร็จสิ้นก่อนปลายเดือน ต.ค. นี้

กรมทรัพยากรธรณีได้มีการประกาศเฝ้าระวังและมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำป่า – ดินถล่ม ช่วงวันที่ 9 – 11 ต.ค. 67 ในพื้นที่ สวนผึ้ง บ้านคา จ.ราชบุรี หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เบตง ธารโต ยะหา จ.ยะลา” นายจิรายุกล่าว