สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ว่า แผนการสอบสวนดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่ยังไม่สามารถสรุปได้ ต่อยอดมาจากความสำเร็จของแคมเปญ “ระบุชื่อฉัน” เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งช่วยระบุตัวตนของศพสตรีรายหนึ่ง ที่ถูกพบในแม่น้ำเบลเยียมเมื่อ 31 ปีก่อน

เป้าหมายของโครงการนี้ คือการระบุตัวตนของสตรีที่เสียชีวิต 22 ราย และความริเริ่มเหล่านั้น ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทราบเบาะแสเพิ่มเติมจากประชาชนมากกว่า 1,800 คน

ปัจจุบัน ตำรวจสากลขยายแคมเปญนี้ ให้ครอบคลุมถึงคดีเก่าจากเบลเยียม, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งการเสียชีวิตที่ไม่ทราบสาเหตุจากฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน

สตรีส่วนใหญ่ถูกฆาตกรรมหรือเสียชีวิตในสถานการณ์ที่น่าสงสัย หรือไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งนายเจอร์เกน สต็อก เลขาธิการอินเตอร์โพล ระบุผ่านวิดีโอว่า ข้อมูลเพียงเล็กน้อยมีความสำคัญในการช่วยคลี่คลายคดีเก่า ๆ ได้ “ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำ, เบาะแส หรือเรื่องราวที่แบ่งปันกัน รายละเอียดซึ่งเล็กที่สุดก็ช่วยเปิดเผยความจริงได้”

ตัวอย่างเช่นคดีของ “โรเบิร์ตส์” ซึ่งเธอได้รับการระบุตัวตนในอีก 30 ปีให้หลัง จากรอยสักรูปดอกไม้ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวของเธอยังจดจำได้ และแจ้งกับสายด่วนภายใน 2 วัน หลังแคมเปญระบุตัวตนเหยื่อถูกเปิดตัว

อินเตอร์โพลเผยแพร่ภาพใบหน้าของผู้หญิงเหล่านี้ รวมถึงภาพสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องประดับและเสื้อผ้า ซึ่งถูกพบในบริเวณที่ร่างของผู้เสียชีวิตถูกทิ้งไว้

“เป้าหมายของเรานั้นเรียบง่าย หาคำตอบให้กับครอบครัว และมอบความยุติธรรมให้กับเหยื่อ” สต็อกกล่าว พร้อมเสริมว่า สาธารณชนอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกชื่อ, อดีต และการมอบความยุติธรรมที่รอคอยมานาน

แคมเปญนี้ทำให้อินเตอร์โพลเปิดเผยข้อมูลลับ หรือ “หมายดำ” ของคดีที่ยังคลี่คลายไม่ได้ เป็นครั้งแรก โดยประกาศลับที่ส่งถึงตำรวจอาจรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่พบศพ, ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ เช่น ดีเอ็นเอและลายนิ้วมือ, แผนภูมิแสดงรูปฟัน และลักษณะทางกายภาพ เช่น ร่างกายและเสื้อผ้า.

เครดิตภาพ : AFP