นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า ได้ร่วมหารือทิศทางอาเซียนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำอยู่ที่ 3.2% จากปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น

แต่เศรษฐกิจอาเซียนยังมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 4.6% ในปี 2567 ซึ่งขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะต้องเสริมสร้างการรวมกลุ่มให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เน้นการค้าภายในภูมิภาค และจะต้องเร่งสรุปผลการยกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) พร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ๆ ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยที่ประชุมถกเข้มถึงแนวทางการผลักดันการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ให้คืบหน้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปีนี้ โดยมุ่งให้ความตกลงมีมาตรฐานที่สูง มองไปข้างหน้า และสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อมากขึ้น

นายพิชัย กล่าวเสริมว่า “ผมได้ร่วมกลั่นกรองผลการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้เสาประชาคมเศรษฐกิจในปี 2567 โดยเฉพาะการสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน การพัฒนาตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs ของอาเซียน และการจัดทำรายงานเพื่อเตรียมทบทวนกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของสาขาต่างๆ ภายใต้เสาประชาคมเศรษฐกิจ

อาทิ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาการจัดทำหมายเลขทะเบียนทางธุรกิจของนิติบุคคลในอาเซียน (UBIN) การชำระเงินข้ามพรมแดนตลอดจนประเด็นความยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเล การลงทุนและการเกษตรยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งได้มีการรับรอง TOR

สำหรับคณะทำงานอาเซียนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเป็นกลไกในการกำกับและกำหนดแผนงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นประชาคมดิจิทัล และเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งหารือแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของเสาเศรษฐกิจสำหรับวิสัยทัศน์อาเซียน ปี 2588 โดยเตรียมเสนอผลลัพธ์การดำเนินงานต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม ศกนี้“

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ และรับรองเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจสำคัญ 5 ฉบับหลัก อาทิ (1) การลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการยกระดับด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี (2) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เป็นต้น

โดยเน้นการเจรจาและการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีภายในและภายนอกของอาเซียน ตลอดจนเอกสารผลลัพธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแนวทางในการลดการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนให้การรับรองในวันที่ 9 ตุลาคม 67 ต่อไป