เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกและเป็นพืชหายากในสกุลหยาด 4 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ หยาดวานรพักตร์ จากลพบุรี มีดอกเหมือนหน้าลิง โดยหยาดชนิดใหม่ทั้ง 4 ชนิด จาก จ.สระบุรี 2 ชนิด ระยอง 1 ชนิด และลพบุรี 1 ชนิด พบขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัดในระบบนิเวศจำเพาะคือระบบนิเวศเขาหินปูน เป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์

ทั้งนี้พืชชนิดใหม่ของโลกทั้ง 4 ชนิด ถูกสำรวจพบตามการดำเนินงานโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) ที่ต้องตีพิมพ์ข้อมูลของพืชทุกวงศ์ที่พบในประเทศ  โดยทีมนักวิจัยกรมอุทยานฯ  ประกอบด้วย น.ส.นัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ และได้ประสานงานกับนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ชาฤๅษีของไทย (Gesneriaceae) Dr. David Middleton เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในสกุลหยาด (Microchirita) จึงได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 52(2) หน้า 80-88 ปี 2024 ทั่วโลกพบพืชในสกุลนี้ 51-55 ชนิด ประเทศไทยพบทั้งหมดถึงปัจจุบัน 41 ชนิด นับว่าเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ของสกุลนี้

1.หยาดวานรพักตร์ Microchirita simia D. J. Middleton, Thananth., Tetsana & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างสีเหลืองสด ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างมีแถบสีเหลืองสดและม่วงแดงเข้มสลับกัน โคนหลอดกลีบดอกด้านในมีเส้นสีม่วงจางและเข้มสลับกัน คำระบุชนิด ‘simia’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึงลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Puudjaa, Kerdkaew, Hemrat & Jirakorn 2785 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

2.หยาดอรทัย Microchirita orathaiae Suddee, D. J. Middleton, Tetsana & Puudjaa พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียว โคนสีม่วง เกือบเกลี้ยงถึงมีขนยาวห่างประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนประปรายถึงหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกม่วงแดงอมน้ำเงิน หลอดกลีบดอกค่อนข้างแบน ทำให้ปากหลอดกลีบดอกมีความกว้างมากกว่าสูง โคนหลอดกลีบดอกด้านในสีเหลืองอ่อน คำระบุชนิด ‘orathaiae’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นางอรทัย เกิดแก้ว ช่างศิลป์ประจำหอพรรณไม้ ซึ่งวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ให้กับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) มาอย่างยาวนาน ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Suddee, Puudjaa, Thananthaisong, Hemrat, Phankien & Daonurai 2256 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

3.หยาดพระโพธิสัตว์ Microchirita radiata D. J. Middleton, Daonurai, Poompayak & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีม่วงแดงถึงสีม่วงแดงอมเขียว หรือสีเขียวตลอด โคนสีม่วงแดงเข้ม มีขนยาวห่างประปราย  ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน แผ่นใบบางมาก มีขนสั้นนุ่มถึงขนสั้นหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว ด้านในหลอดกลีบดอกสีส้ม ด้านล่างสีเข้มกว่า มีเส้นหนาสีน้ำตาลแผ่เป็นรัศมี คำระบุชนิด ‘radiata’ หมายถึงเส้นสีน้ำตาลที่แผ่เป็นรัศมีภายในหลอดกลีบดอก ตัวอย่างต้นแบบ Thananthaisong, Poompayak, Udomsiripong, Khananthong & Daonurai 1000 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ 

4.หยาดถ้ำกระบอก Microchirita puglisiae D. J. Middleton, Daonurai, Poompayak & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อําเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียวอมม่วงแดงถึงเขียว ส่วนโคนสีม่วงแดงถึงม่วงแดงเข้ม มีขนสั้นนุ่มถึงขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน ด้านบนสีเขียวอมเทาเข้ม มีขนสั้นหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว คอหลอดดอกและโคนกลีบปากด้านในสีเหลือง คำระบุชนิด ‘puglisiae’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Dr. Carmen Puglisi ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษีหลายสกุล ซึ่งได้ช่วยศึกษาวิจัยสำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ตัวอย่างต้นแบบ Thananthaisong, Poompayak, Udomsiripong, Khananthong, & Daonurai 1001 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้.