เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (8 ต.ค.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. … ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง และกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การดำเนินการของผู้รับอนุญาต เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

แต่โดยที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 กำหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้แก่ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ยกเว้นสารสกัด ดังนี้ 1. สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ 2. สารสกัดจากเมล็ดของกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ จึงเพิ่มนิยาม “สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชา” และ “ผลิต” เพื่อให้สอดรับกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว และกำหนดให้การยื่นคำขออนุญาตให้ยื่นทางอีเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาต ได้แก่ บุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย สถาบันอุดมศึกษา ตามวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต เช่น เพื่อประโยชนในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อีกทั้งกำหนดให้ใบอนุญาตใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ 3 นับจากปีที่อนุญาต รวมถึงกำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต เช่น จัดให้มีการเก็บสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง แยกจากยาหรือวัตถุอื่น จัดให้มีการวิเคราะห์หาปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลทุกครั้งที่ผลิต และกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีข้อเสนอแนะว่าสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงควรกำหนดให้มีการแสดงรายละเอียดของแหล่งที่มาของวัตถุดิบพืชกัญชาหรือกัญชงให้ชัดเจน และควรให้ผู้ขอรับอนุญาตแสดงใบอนุญาตหรือหนังสือการจดแจ้งการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชงให้ชัดเจน อีกทั้งควรเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารในการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ตามร่างกฎกระทรวงฯ และในเอกสารการขออนุญาตฯ ต้องระบุการมีเภสัชกรผู้ที่อยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการ และควรมีหลักเกณฑ์ควบคุมการประกอบธุรกิจสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง โดยจำกัดสิทธิบางประการของผู้ประกอบธุรกิจและ/หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง อีกทั้งควรมีบทลงโทษชัดเจนสำหรับประกอบธุรกิจและ/หรือผู้รับอนุญาตฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.มีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา รวมถึงให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของ สคบ.ไปพิจารณาดำเนินการด้วย.