จากกรณีหมอดูชื่อดัง ได้กล่าวในรายการโหนกระแสว่า “ที่พระพุทธเจ้าพูด ก็อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ ฉันว่าคุณกำลังงมงายในศาสนาของคุณ ว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรถูกหมด จริงหมด ใช่หมด” นั้น

นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผอ.สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Ch Kitti Kittitharangkoon ว่า คำว่า ศรัทธา ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความเชื่อมั่นหรือความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยมีเหตุมีผลและได้รับการตรวจสอบได้จากการปฏิบัติตามธรรมที่พระองค์ทรงสอนและประสบการณ์ตรงของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม การศรัทธาในพระพุทธศาสนาเน้นให้ผู้ปฏิบัติมีสติและปัญญา ใช้เหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อเพียงเพราะความศรัทธาหรือการบอกต่อเท่านั้น แต่เชื่อเพราะได้เห็นผลจากการปฏิบัติจริง ในทางตรงกันข้าม งมงาย หมายถึง การเชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดการใช้เหตุผล ไม่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ การงมงายมักเป็นการเชื่ออย่างหลับหูหลับตา เชื่อเพราะการบอกเล่า หรือเพราะความเคยชิน โดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้หรือใช้ปัญญาตรวจสอบ

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง “ศรัทธา” กับ “งมงาย” คือ การใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาสิ่งที่เชื่อ ถ้าศรัทธาอย่างมีเหตุผลและเข้าใจจริงๆ จะไม่ตกอยู่ในความงมงาย แต่ถ้าเชื่อโดยไม่คิดและไม่พิจารณา ก็อาจกลายเป็นการงมงายได้ อย่าพูดเอามันเพียงอย่างเดียว

จากนั้นนายบุญเชิด ได้โพสต์อีกข้อความว่า ความแตกต่างระหว่าง “ศรัทธาของชาวพุทธกับความงมงาย” ศรัทธา 4 (ความเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล) 1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น 2. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว 3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน 4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง อ้างอิง : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ในทางตรงกันข้าม ความงมงาย หมายถึง การเชื่อหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดการใช้เหตุผล ไม่มีการตรวจสอบหรือพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ การงมงายมักเป็นการเชื่ออย่างหลับหูหลับตา เชื่อเพราะการบอกเล่า หรือเพราะความเคยชิน โดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้หรือใช้ปัญญาตรวจสอบ ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง “ศรัทธา” และ “งมงาย” คือ การใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาสิ่งที่เชื่อ ถ้าศรัทธาอย่างมีเหตุผลและเข้าใจจริงๆ จะไม่ตกอยู่ในความงมงาย แต่ถ้าเชื่อโดยไม่คิดและไม่พิจารณา ก็อาจกลายเป็นการงมงายได้