หลังจากสัปดาห์ก่อนได้เสนอให้รัฐบาลควรแยกเรื่องค่าเงินบาทออกมา โดยออกกฎหมายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate targeting) ดูแลโดยรมว.คลัง จะเพิ่ม GDP growth ได้มาก แม้แบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ย ซึ่งไม่มีเหตุผล นั้น

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.67  ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาค่าเงินบาทว่า การตั้งกองทุน​ กำหนดเป้าหมายอัตรา​แลกเปลี่ยน​ (Exchange rate targeting) เรากำหนดด้านไม่ให้เงินบาทแข็งเกินไปด้านเดียว​ โดยตั้งให้บาทอ่อนกว่าตลาด เช่น​ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ($) = 40​ บาท​หรือมากกว่า​ กำหนดเป็น​ Range ตามสูตร

ดังนั้น​ เราจะไม่ถูกโจมตีค่าเงิน​บาท​ เพื่อเอา​ $ ออกไป​ เหมือนปี​ 2540​ เพราะตอนนั้น​เรากำหนดค่าบาทแข็งเกินจริง​ เกินราคาตลาดมาก​ ฝรั่งจึงเอา Future Baht​ มาแลก​ $ ออกไป​ จนทำให้เงินบาทขณะนั้น​ ลดค่าลงอย่างมากในเวลาอันสั้น​ เพราะเงินสำรอง​ $ ของเราถูกแลกออกไปหมด​ เช่น​ ลาว ศรีลังกา​ ทุกวันนี้

อดีตรมว.คลัง กล่าวอีกว่าการโจมตีค่าเงินบาท​ ฝรั่งทำได้ด้านเดียว​ คือเมื่อเงินบาทแข็งเกินจริง​มาก​ แล้วถูกโจมตีให้บาทอ่อนลง​ แต่ฝรั่งจะโจมตีให้บาทแข็งค่าไม่ได้​ เพราะฝรั่งต้องเอา​ $ เยอะๆ​ มาแลกบาทออกไป​จากระบบเศรษฐกิจไทย แต่เราพิมพ์บาทเอง​ เราพิมพ์ให้เขาได้เสมอ​ เงินบาทจึงไม่สามาถถูกโจมตีให้แข็งได้​ เว้นแต่แบงก์ชาติ​ที่ทำตอนนี้​ ที่ไม่เพิ่มปริมาณบาทตาม​ $ ที่เพิ่มขึ้น ดูแล้วน่าจะโง่เขลาหรือเปล่า?

การกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน​ จึงมีแต่ได้เงิน $ เข้ามา​ ไม่มี​ $ ออก​ไป เพราะเราจะไม่ขาย​ $ เพื่อให้บาทแข็ง​ หากมีคนมาโจมตี​ เราก็ปล่อยให้บาทอ่อน​ลงไป​ แบบญี่ปุ่น​ สินค้านำเข้าอาจแพงขึ้นบ้าง​ แต่เราจะมีรายได้ส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากทั้งในรูปมูลค่าเงินบาทในปัจจุ​บัน และในรูปปริมาณ​ส่งออกและท่องเที่ยวในระยะยาว

“วิธีการนี้จะทำให้​ GDP​ growth​ rate​ สูง 6-7% ได้อย่างต่อเนื่องใน​ระยะยาว ประเทศจะเจริญเติบโตในอัตราสูง ประชา​ชนฐานะดีมีงานดีๆ​ ทำ​รายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หนี้ของรัฐบาล​และครัวเรือนลดลง​ ดังนั้นการทำค่าเงินให้อ่อนกว่าตลาด​ เราไม่มีความเสี่ยงอะไร” ศ.ดร.สุชาติ กล่าว