สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่า รายงานดังกล่าวถือเป็นข้อกล่าวหาล่าสุดต่อเทเลแกรม นับตั้งแต่ฝรั่งเศสใช้กฎหมายใหม่ที่เข้มงวด โดยไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศเทียบเท่า และตั้งข้อหานายพาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้ง และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเทเลแกรม ฐานอนุญาตให้มีอาชญากรรมบนแพลตฟอร์ม

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ระบุในรายงานว่า ข้อมูลที่ถูกแฮก ไม่ว่าจะเป็น รายละเอียดบัตรเครดิต, รหัสผ่าน และประวัติเบราว์เซอร์ ถูกซื้อขายอย่างเปิดเผยในวงกว้างบนเทเลแกรม ซึ่งมีช่องทางที่กว้างขวาง และแทบไม่มีการกลั่นกรองข้อมูล

นอกจากนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ เช่น ดีปเฟค ที่ออกแบบมาเพื่อฉ้อโกง และมัลแวร์ขโมยข้อมูล ก็ถูกขายอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มนี้ อีกทั้งระบบแลกเปลี่ยนสกุลดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต ยังให้บริการฟอกเงินด้วย ซึ่งผู้ขายกำลังมองหาเป้าหมายที่เป็นแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านนายเบเนดิคท์ ฮอฟมานน์ รองผู้แทนยูเอ็นโอดีซี ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า เทเลแกรมเป็นสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับอาชญากร และทำให้ข้อมูลของผู้บริโภคตกอยู่ในความเสี่ยงสูง ที่จะถูกนำไปใช้ในการหลอกลวง หรืออาชญากรรมอื่น ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมา.

เครดิตภาพ : AFP