การผายลมเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในบางกาลเทศะก็อาจไม่สะดวกที่จะปลดปล่อยตามความต้องการทางธรรมชาติของร่างกาย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่ต่อหน้าคนอื่น ๆ ในเหตุการณ์สำคัญ

ถึงอย่างนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันว่าการอั้นหรือกลั้นการผายลมไว้ ไม่ใช่เรื่องดีและอาจมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง

ดร. เอลเลน สไตน์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไลฟ์ ไซแอนซ์ว่า ไม่ว่าเราจะพยายามอั้นไว้มากแค่ไหน สุดท้ายแล้วร่างกายของเราก็จะหาทางปลดปล่อยแก๊สเจ้ากรรมนั้นออกมาจนได้

แก๊สจากการผายลมนั้นเป็นผลมาจากการที่ร่างกายย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป ระหว่างกระบวนการย่อยนี้เองที่เกิดแก๊สสะสมขึ้นในร่างกาย ซึ่งปริมาณของแก๊สจะขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนอาหารที่กินเข้าไป ทั้งนี้ อาหารประเภทถั่วทั้งหลายคืออาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สสะสมในลำไส้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีการผายลมหลังจากกินถั่วเข้าไป

ดร. สไตน์อธิบายว่า เมื่อเราพยายามกลั้นการผายลม มีอวัยวะเพียงส่วนเดียวที่ทำหน้าที่นี้ได้ ซึ่งก็คือกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักส่วนนอก ร่างกายจะสั่งให้กล้ามเนื้อส่วนนี้บีบแน่น เพื่อไม่ให้แก๊สในลำไส้เล็ดลอดออกไป

อย่างไรก็ตาม ดร. สไตน์ชี้ว่าร่างกายของเราสามารถกลั้นการผายลมไว้ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วก็จำเป็นจะต้องปลดปล่อยออกไป ซึ่งอาจจะเป็นตอนที่เราเข้าห้องน้ำและเป็นตอนที่เรากำลังหลับ ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่รู้สึกตัว

เมื่อเรากลั้นการผายลม แก๊สสะสมเหล่านี้จะโดนดันกลับเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อรอเวลาที่จะได้ปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง ซึ่งบางครั้งก็ต้องรอนานจนถึงเวลาเข้านอน 

ดร. สไตน์ชี้ว่าหากเรากลั้นการผายลมเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป อาจกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบกลั้นการผายลมบ่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อระบบลำไส้ในระยะยาว โดยอาจก่อให้เกิดกระเปาะหรือถุงเล็ก ๆ โป่งออกมาที่ลำไส้ และเป็นส่วนที่สามารถติดเชื้อได้ 

ดร. สไตน์เตือนว่า เมื่อกระเปาะเหล่านี้ติดเชื้อจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ระบบลำไส้แปรปรวน รวมถึงระบบขับถ่ายมีปัญหา จึงไม่ควรกลั้นการผายลมบ่อย ๆ จะเป็นการดีที่สุด

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES