เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมสายการบินประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) จัดงาน “Thai Aviation Sustainability Day 2024” มุ่งเน้นการนำเสนอวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในภาคการบิน พร้อมการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงาน และสิ่งแวดล้อม

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การนำเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (SAF) มาใช้, การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับใช้คาร์บอนเครดิตที่เป็นระบบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่สายการบินต้องปรับตัว เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ข้อกำหนดของภาครัฐที่เตรียมประกาศบังคับใช้ในปี 2569 ให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนใช้น้ำมัน SAF 1% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงอากาศยาน ยอมรับว่าราคาน้ำมันดังกล่าวเป็นต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 3 เท่า ดังนั้นการทยอยนำมาเป็นส่วนผสมเล็กน้อย ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้บริหารจัดการต้นทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามในฐานะภาคเอกชนยังคงหวังว่าภาครัฐจะมีแนวทางทำให้ต้นทุนเหล่านี้ปรับลดลงได้ ไม่ว่าจะเกิดจากวิธีลดต้นทุนการผลิต หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนต้นทุน เพื่อทำให้สายการบินเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายต่อไปได้

ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า เบื้องต้นประมาณปี 2569 จะมีการประกาศบังคับให้ทุกสายการบินจะต้องใช้ SAF ผสมอยู่ในน้ำมันในสัดส่วน 1% และจะปรับเป็น 2% ในปี 2570 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อเตรียมน้ำมันให้มีส่วนของ SAF 1% รองรับด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินงานเรื่องนี้ ทุกสายการบินต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน เพราะมีต้นทุนสูง 3 เท่าของเชื้อเพลิงปกติ

ขณะที่นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกัน เเละแบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านความยั่งยืน ทำให้เห็นความก้าวหน้าสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายตามแผน ซึ่งทุกสายการบินพร้อมทำให้เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจน และประเมินผลได้ โดยยืนยันว่าอุตสาหกรรมการบินจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเชื่อมต่อผู้คน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด.