เมื่อวันที่ 7 ต.ค. จากกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการกลับคืนสู่รั้วทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากประกาศยุติบทบาทของผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางฯ  และพรรคพลังประชารัฐที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งนายณัฐวุฒิเคยประกาศในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ว่า “ไม่เอาลุง” แต่ในปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกจากวงการการเมือง ส่วนพรรคพลังประชารัฐในขั้วของ พล.อ.ประวิตร ได้ออกจากการร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

ย้อนดูประวัติการเมืองของ “เต้น ณัฐวุฒิ” เริ่มชีวิตทางการเมือง เมื่อปี 2544 ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในนามพรรคชาติพัฒนา ต่อมา ในปี 2549 เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ นายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคฯ ในขณะนั้น  และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย ต่อมา พรรคคัดเลือกให้ลงสมัคร สส.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เสียก่อน จึงผลักให้ณัฐวุฒิ รวมกลุ่มกับวีระ มุสิกพงศ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ ลงถนนประท้วงในนามกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

กระทั่ง เมื่อปี 2551 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิให้เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นายณัฐวุฒิยังคงมีบทบาทเป็นแกนนำกลุ่มนปก. .ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” พร้อมเดินหน้านำมวลชนเสื้อแดงลงถนนประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2552-2553 มีการยึดพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ และใจกลางกทม. รวมถึงเกิดเหตุการณ์เผาสถานที่สำคัญหลายแห่ง เกิดวาทะเด็ดของนายณัฐวุฒิว่า “เผาเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” จนกระทั่งถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้าย

แต่ชีวิตทางการเมืองของนายณัฐวุฒิไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2554 และปี 2557 นายณัฐวุฒิได้รับเลือกตั้งเป็นสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยระหว่างนั้น ในปี 2555 นายณัฐวุฒิได้รับตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นรมช.พาณิชย์ ในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดเดียวกัน ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกโจมตีอย่างหนักจากปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ต่อมา ในปี 2562  ได้ลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จนกระทั่ง ปี 2565 ได้กลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวฯ และมีการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ว่า “ไม่เอาลุง” แต่สุดท้าย พรรคเพื่อไทยนำพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาลผสม นายณัฐวุฒิจึงประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 และหันมาเปิดร้านอาหาร “เยี่ยมใต้” ซึ่งมีบุคคลสำคัญทางการเมืองแวะเวียนไปพบปะเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยังได้ไปร่วมงานอุปสมบทของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

และล่าสุด นายณัฐวุฒิได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่จับตาว่าจะเป็นกุนซือค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร